ข้อตกลง ‘อาร์เซป’ แผนกระตุ้นการค้า ASEAN

REUTERS/Athit Perawongmetha

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

หลังจาก “ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก” (ทีพีพี) ถูก โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาจัดการจนกลายเป็นแทบล้มหายตายจาก ไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิมอีกแล้ว ความสำคัญของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (อาร์เซป) ก็เพิ่มความสำคัญและความหมายมากขึ้นตามลำดับ

ในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ หลายฝ่ายคาดหวังว่า สมาชิกภายใต้โครงการ อาร์เซป 16 ประเทศ จะสามารถบรรลุความตกลงกันได้ จนสามารถลงนามในความตกลงกันในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 35 นี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ “ได้ข้อสรุปในสาระสำคัญ” ตามแผนการก่อตั้งเขตการค้าที่จะมีขนาดใหญ่โตมหาศาลผูกพันเขตเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในเอเชียแปซิฟิกนี้ได้

เหตุผลเพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ในเวลานี้สภาวการณ์การค้าโลกต้องการแผนประการหนึ่ง หรือการรวมกลุ่มขึ้นกลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่กระตุ้นให้การค้าที่ชะลอตัวลงเพราะความไม่แน่นอนและความสับสนอลหม่านจากสงครามการค้าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ให้กระเตื้องขึ้นมากเหลือเกิน

อาร์เซป เป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนทางการค้าระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน 10 ชาติกับประเทศคู่เจรจาที่เป็นหุ้นส่วนทางการค้าขนาดใหญ่ระหว่างอาเซียนกันมาโดยตลอดอีก 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

หากทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมาย อาร์เซปจะกลายเป็นกลุ่มการค้าที่ครอบคลุมพื้นที่ทางเศรษฐกิจขนาดมหึมา คิดสัดส่วนมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แล้วมากถึง 1 ใน 3 ของจีดีพี
ของทั้งโลก

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ จะเป็นการสร้างตลาดใหม่สำหรับรองรับสินค้าและบริการ รวมถึงรองรับโอกาสในการลงทุนของบริษัทธุรกิจต่าง ๆ ที่มีขนาดใหญ่โตด้วยอีกต่างหาก

ผลของการหารือเป็นไปตามความคาดหมาย เพราะในแถลงการณ์ของประธานอาเซียน ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ไทยในฐานะประธานอาเซียน “ขอแสดงความยินดีต่อการบรรลุถึงข้อสรุปในการจัดตั้ง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้ ในการเจรจาครั้งนี้ และได้ประกาศพันธะผูกพันที่จะลงนามในความตกลงอาร์เซปดังกล่าวในปี 2020”

โฆษกของทางการไทยแถลงเพิ่่มเติมในเวลาต่อมาว่า กำหนดเวลาในการลงนามความตกลงดังกล่าวนั้น คือภายในเดือน ก.พ. 2020 นี้

แถลงการณ์ประธานอาเซียนระบุว่า ความตกลงครั้งนี้จะส่งผลดีต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมแนวทางการค้าที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม ช่วยขยายห่วงโซ่ของมูลค่าออกไปและที่สำคัญก็คือ “ยืนอยู่บนพื้นของระบบการค้าระหว่างประเทศ”

มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้ความเห็นสนับสนุนการจัดตั้ง อาร์เซป ไว้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ยิ่งมีการลงนามกันได้เร็วเท่าใดก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น

ผู้นำอาวุโสของอาเซียนผู้คร่ำหวอดยอมรับว่า ยังคง “มีประเด็นปัญหาปลีกย่อย” อีกบางประการในระหว่างการเจรจาครั้งนี้  แต่มหาธีร์ระบุว่า มีความรู้สึกว่าไม่ช้าไม่นานรัฐสมาชิกก็จะสามารถแก้ไขเงื่อนปมเหล่านั้นได้

เหตุผลเป็นเพราะ “รางวัลที่ได้จากการทำความตกลงนี้มหาศาลอย่างยิ่งเนื่องจากมีประชากรมากมายเกี่ยวข้องอยู่ด้วย”

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ประเด็นปัญหาปลีกย่อย ที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียพูดถึงนั้นคืออะไร ใช่หมายถึงความหวั่นวิตกที่ทำให้อินเดียลังเล ละล้าละลังในการเข้าร่วมอาร์เซปตลอดมาหรือไม่ หากเป็นกรณีดังกล่าวจริง ในการลงนามความตกลงที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้านี้ จะยังคงมีอินเดียเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกอาร์เซปอยู่อีกหรือไม่

จีนกับอินเดีย เป็น 2 ชาติใหญ่ที่สุดในบรรดาสมาชิกอาร์เซปทั้งหลาย จำนวนประชากรมหาศาลในทั้ง 2 ประเทศทำให้กลายเป็นตลาดใหญ่ ตลาดสำคัญในการค้าภายใต้ความตกลงนี้

จีนเองเห็นชอบและผลักดันการก่อตั้งอาร์เซปมาโดยตลอด เนื่องจากเห็นว่าการรวมตัวเป็นกลุ่มการค้าครั้งนี้เป็นชิ้นส่วนสำคัญชิ้นส่วนหนึ่งในการ “บูรณาการทางเศรษฐกิจ” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกภายใต้การนำของจีนนั่นเอง

แต่อินเดียเป็นกังวลกับการเข้าร่วมในความตกลงนี้มาตลอด แม้ในคำกล่าวในที่ประชุมร่วมอินเดีย-อาเซียน นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ยังไม่เอ่ยพาดพิงถึงอาร์เซปแม้แต่คำเดียว เพียงพูดถึงความเป็นหุ้นส่วนทางการค้า ระหว่างอินเดียกับอาเซียนเท่านั้น ที่จะทำให้ “ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันเข้มแข็งมากขึ้นและมีสมดุลมากขึ้น”

ภายใต้ความตกลงอาร์เซป ชาติสมาชิกจะค่อย ๆ ลดระดับพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของแต่ละประเทศลง ค่อย ๆ เปิดตลาดภายในประเทศของแต่ละประเทศเพิ่มมากขึ้น

อินเดียเกรงว่าหากดำเนินการเช่นนั้น อุตสาหกรรมภายในและบรรดาผู้ผลิตภายในประเทศของอินเดียอาจถูก
ถล่มด้วยสินค้าราคาถูกจากจีน ผลผลิตทางการเกษตรจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การค้าระหว่างจีนกับอินเดียนั้นมีมูลค่ารวมสูงถึง 95,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018

ตั้งแต่ต้นปีนี้เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ อินเดียเพิ่งส่งสินค้าขายให้กับจีนได้เพียง 18,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง

ดังนั้นแม้ว่าไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมจะยืนยันว่า อินเดียยังไม่ได้ถอนตัวจากอาร์เซป

แต่ถ้าในการลงนามความตกลงปีหน้าไม่มีอินเดียร่วมลงนามด้วย ก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด