“กูเกิลเพย์” ผนึกแบงก์ ลุย e-Payment สิงคโปร์

ความสำเร็จของ “กูเกิลเพย์” (Google pay) ในอินเดียและอีกราว 30 ประเทศทั่วโลก ทำให้แพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์ของ “กูเกิล” ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีมองหาลู่ทางใหม่ ในการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) โดยเฉพาะการบุกตลาดที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งของโลกอย่าง “สิงคโปร์”

“แพทริค ทีโอ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของกูเกิลเพย์ กล่าวในงาน Singapore FinTech Festival 2019 (SFF) ว่า สิงคโปร์เป็นฐานการพัฒนาแพลตฟอร์มกูเกิลเพย์ในภูมิภาคเอเชียอยู่แล้ว และยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จะรองรับการก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” ทำให้กูเกิลมองเห็นโอกาสในการพัฒนากูเกิลเพย์เต็มรูปแบบที่สิงคโปร์ภายในปี 2020

เดอะสเตรตส์ไทมส์ รายงานว่า กูเกิลได้จับมือกับ “เพย์นาว” (PayNow) ซึ่งเป็นบริการโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ของธนาคาร 9 แห่งในสิงคโปร์ อย่างดีบีเอส(DBS) และโอซีบีซี (OCBC) ซึ่งผู้บริโภคสามารถโอนเงินระหว่างธนาคารได้โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขบัตรประชาชน เหมือน “พร้อมเพย์” ของไทย

ปัจจุบันกูเกิลเพย์ให้บริการชำระเงินออนไลน์ในสิงคโปร์ 2 รูปแบบ คือผู้ใช้บริการสามารถชำระเงินผ่านอุปกรณ์ “คอนแทคเลส” ที่เชื่อมต่อกับแอปกูเกิลเพย์เพื่อซื้อสินค้าในร้านค้าทั่วไป และการชำระเงินซื้อสินค้าออนไลน์ อย่างไรก็ตามบริการของกูเกิลเพย์ยังต้องมีกระเป๋าเงินออนไลน์ (e-Wallet) และผู้ใช้งานต้องมีบัตรเครดิตเพื่อยืนยันตัวตน ลักษณะเดียวกันแอปเปิลเพย์และซัมซุงเพย์

แต่การร่วมมือกันระหว่างกูเกิลและเพย์นาวจะทำให้ผู้มีบัญชีธนาคารสามารถชำระเงินผ่านกูเกิลเพย์ในร้านค้าราว 8 หมื่นร้านทั่วสิงคโปร์ โดยไม่ต้องมีบัตรเครดิตยืนยันตัวตน เนื่องจากบริการใหม่นี้จะตัดยอดชำระจากบัญชีธนาคารโดยตรง โดยจะเริ่มทดลองให้บริการลูกค้าของธนาคารดีบีเอสและโอซีบีซีครั้งแรกในเดือน ม.ค. 2020 บริการใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 2020 จะออกแบบให้มีข้อมูลของบัญชีผู้ใช้งานคล้ายกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อรองรับการใช้จ่ายรายย่อย ทั้งในร้านค้าทั่วไปและระหว่างบุคคล ซึ่งจะเหมือนกับการแชตกันในกลุ่มเพื่อนและโอนเงินได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังจะมีการพัฒนาให้รองรับระบบโทเคนดิจิทัล (Token) อีกด้วย

นอกจากนี้ยังจะมีการเปิดตัวแพลตฟอร์ม “สปอต” (Spot) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับคิวอาร์โค้ด แต่พัฒนามาเพื่อรองรับร้านค้าที่ร่วมกับกูเกิลเพย์เท่านั้น โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลของสินค้าและบริการ รวมทั้งชำระเงินได้ทันทีจากการสแกน หรือใช้อุปกรณ์ของกูเกิลไปสัมผัสกับสปอต

“ฉิง เว่ยหง” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของธนาคารโอซีบีซีระบุว่า การผูกบัญชีแบบใหม่จะลดความยุ่งยากให้กับลูกค้าในการเข้าถึงบัญชีธนาคารนับเป็นความพยายามล่าสุดของสถาบันการเงินสิงคโปร์ ที่ร่วมผลักดัน ให้การใช้จ่ายแบบโมบายเพย์เมนต์สะดวกมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างตัวเลือกการชำระเงินที่หลากหลาย ไม่ยุ่งยาก สอดคล้องกับเทรนด์หลักของงาน SFF ปีนี้ ที่ฟินเทคต่างเน้นไปที่การออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้จ่ายกับโลกยุคดิจิทัล