นโยบายลดมลพิษทางอากาศจีนคืบหน้า ช่วยชีวิตผู้คนนับแสนในปี 2017

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า วารสารสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (PNAS) ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยใหม่ที่ชี้ว่า นโยบายการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอากาศของจีนมีความก้าวหน้า และสามารถช่วยชีวิตผู้คนจากอาการเจ็บป่วยเพราะมลพิษสภาพอากาศไว้หลายแสนรายในปี 2017

ผลงานวิจัยดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่ติดตาม “ปัญหามลพิษในอากาศของจีน” ซึ่งก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยมลพิษ โดยในปี 2008 มีฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ในอากาศเข้มข้นกว่าระดับที่องค์กรอนามัยโลกแนะนำถึง 40 เท่า ส่งผลต่อสุขภาพของพลเมือง เนื่องจากมลพิษขนาดเล็กสามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย และในระยะยาวกลายเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจวายได้ ทำให้ทางการจีนเริ่มออกนโยบายเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศในปี 2008

จากการศึกษาระหว่างปี 2013-2017 ได้มีการติดตามผลการดำเนินการตามกฎระเบียบใหม่ เกี่ยวกับการลดการปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรมและยานพาหนะ รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งการศึกษาพบว่า มลพิษอนุภาคขนาดเล็กในอากาศลดลงรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลของ Greenpeace และ AirVisual ชี้ว่า “กรุงปักกิ่ง” เมืองหลวงของจีน จากเดิมที่ติดอันดับ 1 ใน 100 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในเอเชีย สามารถลดระดับมลพิษลงได้ถึง 10% ระหว่างปี 2017-2018 ขณะที่ “เซี่ยงไฮ้” ศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งของโลกก็มีความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะกฎการรีไซเคิลอย่างเข้มงวด

สาเหตุสำคัญที่ทำให้นโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จ มาจากแรงกดดันสาธารณะและการรณรงค์เรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่จีนก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชากรที่มีจำนวนมาก และยังต้องเผชิญกับการสร้างความสมดุลระหว่างการแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศ ซึ่งอาจขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศยังคงเป็นปัญหาระดับโลก โดยปัจจุบัน อินเดียยังอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 30 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ขณะที่ผลวิจัยในสหรัฐชี้ว่า มลพิษทางอากาศมีส่วนในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนกว่า 107,000 รายในปี 2011 และคิดมูลค่าความเสียหายสูงถึง 866,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ