“เจโทร” หนุน “7 สตาร์ทอัพญี่ปุ่น” ลุยจับคู่ธุรกิจ

“เจโทร กรุงเทพฯ” แถลงข่าวในวันนี้ (26 พ.ย.62) เปิดตัวโครงการ “JETRO Innovation Program” เพื่อส่งเสริมการขยายธุรกิจในประเทศไทยของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทเข้าร่วมโครงการ 7 บริษัท ทั้งนี้บริษัทสตาร์ทอัพ 7 แห่งประกอบด้วย 1) ABEJA : AI Platform สำหรับการวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 2) AIVS : Mimamori System ระบบโมชั่นเซนเซอร์เพื่อดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ 3) Studist : แอพพลิเคชั่นสร้างคู่มือการทำงานที่มี interface ใช้งานง่ายบนสมาร์ทโฟน 4) Spectee : AI คัดกรองข้อมูลสถานการณ์ฉุกเฉิน อุบัติภัย ภัยธรรมชาติ 5) Soramitsu : เทคโนโลยี Blockchain 6) Xcoo : โปรแกรม AI วิเคราะห์มะเร็งจาก Genome และ 7) VisGene : ชุดตรวจสอบไวรัสไข้เลือดออกจาก Genome

โดยจะมีการจัดกิจกรรมการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจในงานมหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลนานาชาติ “CEBIT ASEAN Thailand 2019” ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย.ที่จะถึงนี้

มอง อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย มีศักยภาพสูง

นายอัตสึชิ ทาเคนิ ประธานเจโทรประจำกรุงเทพฯ มองว่า ประเทศไทยมีความน่าสนใจมากในสายตาชาวญี่ปุ่น ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นมากกว่า 5,000 แห่งลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีชาวญี่ปุ่นมากกว่า 70,000 คน ย้ายถิ่นฐานมาไทย โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยมีโอกาสเติบโตสูง อีกทั้งมีการสนับสนุนจากทางรัฐบาลโดยนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น สตาร์ทอัพ

นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ตลาดธุรกิจบริการด้านการแพทย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงไทยมีชื่อเสียงทางด้าน “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” อยู่แล้วจึงมองว่าเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพด้านสุขภาพจากญี่ปุ่นในการขยายตลาดสู่ประเทศไทย สำหรับปีนี้มีสตาร์ทอัพด้านสุขภาพเข้าร่วมโครงการถึง 3 ราย แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจบริการทางด้านสุขภาพเป็นเป้าหมายสำคัญของการส่งเสริมทางธุรกิจครั้งนี้

โดยทางเจโทรมองเห็นถึงศักยภาพของไทยดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจในไทยของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ซึ่งนอกจากจะมีการจับคู่ทางธุรกิจแล้วยังมีโปรแกรมอื่นๆ ที่ช่วยสร้างความรู้สำหรับการทำธุรกิจในไทยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการชาวญี่ปุ่นอีกด้วย

ชูนวัตกรรมทางการแพทย์รองรับ สังคมผู้สูงอายุ

สังคมผู้สูงอายุเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญทั่วโลก รวมถึงในไทย โดยทาง ดร.คูนิฮิโระ นิชิมูระ ผู้ก่อตั้ง “เท็นคู” สตาร์ทอัพผู้ให้บริการซอฟท์แวร์การตรวจหามะเร็งจากจีโนม (Genome) หรือ DNA ทั้งหมดในเซลล์ของมนุษย์ ซึ่งเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ได้กล่าวว่า ไทยอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องมีระบบการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคมะเร็ง”

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการ โครวิส (Chrovis)” ซอฟท์แวร์ตรวจหามะเร็งด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบุว่า มะเร็งเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายระดับจีโนมซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นรายบุคคล หากมีการนำระบบ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจำนวณมหาศาลระดับจีโนมที่มีความแม่นยำและรวดเร็ว จะสามารถวิเคราะห์ประเภทของมะเร็งและกำหนดแนวทางรักษาที่มีประสิทธิภาพได้

โดย “เท็นคู” มองว่าลักษณะจีโนมของชาวไทยและญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกันมาก นอกจากนี้นโยบายสนับสนุนการพัฒนาทางด้าน “จีโนมิกส์” ของไทยจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ครบวงจร ดังนั้นจึงเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจในไทยต่อไป

บาทแข็งกระทบ บ.ญี่ปุ่น แนะรัฐบาลเร่งหาทางออก

นายอัสสึชิ ทาเคนิ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลต่อบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย โดยเฉพาะบริษัทที่ลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสำหรับการส่งออก ทั้งนี้ทางเจโทรพร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งหาทางแก้ไขปัญหานี้

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าประเด็นค่าเงินบาทแข็งจะไม่ส่งผลต่อธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาลงทุน โดยสตาร์ทอัพเหล่านี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะมาตั้งบริษัทในไทย ขึ้นอยู่กับการจับคู่ทางธุรกิจ โดยอาจจะมีการไปลงทุนในประเทศอื่นที่เข้าร่วมงานนี้ก็เป็นได้

นอกจากนี้ “เจโทร” ยังแสดงความกังวลถึงปัญหาสงครามการค้าว่าอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย