ถอดบทเรียน “เนเธอร์แลนด์” ระบบบำนาญดีสุดในโลกกำลังล่มสลาย

(Photo by Robin UTRECHT / ANP / AFP) / Netherlands OUT

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรกำลังสร้างแรงกดดันต่อระบบบำเหน็จบำนาญทั่วโลก ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำส่งผลต่อจำนวนแรงงาน ขณะที่ผู้สูงอายุวัยเกษียณมีจำนวนเพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้กำลังสร้างแรงกระเพื่อมต่อกองทุนบำนาญทั่วโลกโดยเฉพาะในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำติดดิน ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนลดฮวบ ซึ่งกดดันรัฐบาลทั่วโลกอาจต้องปรับลดเงินบำนาญของผู้เกษียณ รวมถึงการเรียกเก็บเงินสมทบจากวัยทำงานมากขึ้น

รอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ (ดัตช์) ประเทศที่มีระบบบำเหน็จบำนาญที่ดีที่สุดในโลก กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าว โดยกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ระบุว่า หากสัดส่วนความเพียงพอของสินทรัพย์กองทุนต่อเงินบำนาญและผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุ (coverage ratio) ของกองทุนลดลงต่ำกว่า 95% กองทุนบำนาญนั้นจำเป็นต้องปรับลดเงินบำนาญที่จ่ายให้กับผู้เกษียณ หรือต้องเพิ่มเงินอุดหนุนกองทุนของคนทำงาน

โดยขณะนี้พบว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการของประเทศเนเธอร์แลนด์ (เอบีพี) รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างภาคสาธารณสุข (พีเอฟซีวี) มีสัดส่วนความเพียงพอของสินทรัพย์กองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ อยู่ที่ 93.3% และ 92.2% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 70 แห่ง ซึ่งมีสมาชิกกว่า 12.1 ล้านคน เผชิญกับภาวะสินทรัพย์กองทุนไม่เพียงพอต่อการชำระเงินบำนาญและสิทธิประโยชน์หลังเกษียณ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากภาคประชาชน รวมถึงความกังวลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ส่งผลให้รัฐบาลดัตช์ประกาศชะลอการปรับลดเงินบำนาญของคนวัยเกษียณออกไปเป็นปีหน้า นายโวลเตอร์ คูมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคมเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า อาจมีการตัดสิทธิประโยชน์ของผู้รับเงินบำนาญลงในปีหน้า ถ้าหากสัดส่วนความเพียงพอของสินทรัพย์กองทุนลดต่ำลงกว่า 90%

ทั้งนี้ หากมีการปรับลดเงินบำนาญเกิดขึ้นในปี 2020 จะเป็นการลดเบี้ยบำนาญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีระบบบำเหน็จบำนาญที่ดีที่สุดในโลก

โดยรายงานดัชนีระบบบำนาญโลก ประจำปี 2019 ของ “เมลเบิร์น เมอร์เซอร์” พบว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก โดยลูกจ้างในเนเธอร์แลนด์จะได้รับเงินจากระบบบำนาญใน 2 ส่วน ได้แก่ กองทุนบำนาญของราชการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างเอกชน ซึ่งเมื่อรวมเบี้ยบำนาญทั้งสองกองทุนจะทำให้คนวัยเกษียณมีรายได้ราว 80% ของรายได้ในช่วงชีวิตที่ทำงานมา

นอกจากปัจจัยโครงสร้างประชากรสูงวัยจะสร้างแรงกดดันต่อสถานะการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลกแล้ว อีกปัจจัยสำคัญก็มาจากภาวะ “อัตราดอกเบี้ย” ที่ต่ำมาก จนส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนบำนาญด้วยเช่นกัน

“ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์วางแผนปฏิรูประบบบำนาญของตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเตรียมยืดเวลาอายุเกษียณเป็น 67 ปี ภายในปี 2024 นอกจากนี้ รายงานระบุว่า

นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสำคัญ ๆ ทั่วโลก โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลาง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกลดต่ำลง กระทบโดยตรงต่อผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนบำนาญทั่วโลก ขณะที่จำนวนประชากรวัยเกษียณมีจำนวนมากขึ้น แต่ดอกเบี้ยที่กองทุนให้สัญญาไว้จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทำให้กองทุนบำนาญหลายแห่งเผชิญปัญหาสถานะทางการเงินที่ต้องจ่ายให้กับคนวัยเกษียณในอนาคต

ทั้งนี้ รายงานของ “จี-30” หรือองค์กรที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนโยบายทางการเงิน ในกรุงวอชิงตัน เปิดเผยว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว 20 ประเทศทั่วโลก ต้องเผชิญกับการขาดแคลนเงินบำนาญที่เพียงพอต่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ถึง 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2050 เทียบกับในปี 2017 ที่ขาดแคลนเงินเพียง 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ เป็นการคำนวณที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานเศรษฐกิจโลกมีการเติบโตทุกปี