“มิลเลนเนียล” สหรัฐไร้เงินเก็บ “เช่าบ้าน” ระยะยาวมากขึ้น

(Photo via Smith Collection/Gado/Getty Images).

ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกันออกไปในแต่ละช่วงเวลา ส่งผลให้การวางแผนการใช้ชีวิตของคนในแต่ละยุคสมัยต่างกันออกไปด้วย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความมั่นคงทางรายได้ที่ต่ำลง ทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า “มิลเลนเนียล” จำนวนมากไม่ต้องการที่จะมีบ้านเป็นของตนเองอีกต่อไป

“บิสซิเนส อินไซเดอร์” รายงานผลสำรวจของ “อพาร์ตเมนต์ลิสต์” (apartment list) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเช่าที่พักอาศัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการสำรวจชาวอเมริกันอายุระหว่าง 23-38 ปีหรือชาวมิลเลนเนียลที่เช่าที่พักอาศัยในสหรัฐกว่า 10,000 คน พบว่า ในปีนี้มีชาวมิลเลนเนียลตั้งใจว่าจะเช่าที่พักอาศัยแบบไม่มีกำหนดเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 12.3% จาก 10.7%ในปี 2018 และยังพบว่าชาวมิลเลนเนียลมีแนวโน้มที่จะเช่าที่พักอาศัยระยะยาวมากขึ้น และเริ่มการผ่อนซื้อที่พักอาศัยช้ากว่าคนรุ่นก่อน

สาเหตุสำคัญมาจากชาวมิลเลนเนียลไม่มีความสามารถในการซื้อบ้าน เนื่องจากราคาบ้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 39% จาก 40 ปีก่อน

ขณะที่เงินดาวน์แบบดั้งเดิมที่กำหนดไว้ที่ 20% ของราคาที่พักอาศัยยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้การซื้อบ้านของคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องยากลำบาก เนื่องจากมีเพียง 12.9% ของชาวมิลเลนเนียลอเมริกันที่มีเงินเก็บมากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภายใน 5 ปีข้างหน้าจะมีชาวมิลเลนเนียลอเมริกันเพียง 13% ที่มีเงินเก็บมากพอที่จะจ่ายเงินดาวน์บ้าน

คนรุ่นมิลเลนเนียลอีกกลุ่มหนึ่ง ยังระบุว่า เหตุผลที่พวกเขาไม่สามารถซื้อบ้านได้ไม่ใช่แค่ราคาที่สูงขึ้น แต่พวกเขายังมีภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวอื่น ๆ โดยเฉพาะหนี้สินจากการกู้เงินเพื่อการศึกษา ซึ่งมีคนรุ่นมิลเลนเนียลถึง 57% ที่มีภาระใช้หนี้ทางการศึกษา ซึ่งการผ่อนชำระหนี้รายเดือนทำให้เงินออมของพวกเขาลดลงเฉลี่ยเดือนละราว 100 ดอลลาร์สหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างอัตราการกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้นกับอัตราการซื้อบ้านที่ต่ำลง ส่งผลให้นักการเมืองสหรัฐบางรายอย่าง “เบอร์นี แซนเดอร์ส” และ “เอลิซาเบธ วอร์เรน” จากพรรคเดโมแครต เสนอทางออกให้ยกเว้นการชำระหนี้เงินกู้ทางการศึกษาทั้งหมดให้กับบุคคลที่มีรายได้น้อย เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีเงินเหลือเก็บเพียงพอที่จะสามารถดาวน์เพื่อซื้อบ้านได้

แต่ชาวมิลเลนเนียลอเมริกันหลายคนที่เริ่มต้นการใช้ชีวิตด้วยการเช่าที่พักอาศัย ก็อาจจะยังไม่สามารถออมเงินสำหรับเป็นเงินดาวน์เพื่อการซื้อบ้านได้ เนื่องจากราคาค่าเช่าที่พักอาศัยที่สูงเฉลี่ยถึง 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่งผลให้การเก็บออมเงินเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ การช่วยเหลือทางการเงินจากครอบครัวของชาวอเมริกันยังลดลงด้วย โดยมีชาวมิลเลนเนียลเพียง 17.4% ที่ยังได้รับเงินสนับสนุนจากครอบครัว ซึ่งปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 8,928 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2018 ได้รับเงินสนับสนุนถึง 9,878 ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวมิลเลนเนียล ไม่ต้องการเป็นเจ้าของบ้าน จากความยืดหยุ่นและความต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ รวมถึงการเป็นครอบครัวเดี่ยว ทำให้การย้ายที่พักอาศัยไม่ใช่เรื่องใหญ่ ซึ่งในยุคปัจจุบันสามารถทำได้อย่างง่ายดายและสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตได้ไม่ต่างจากเดิม

ทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่แฝงมาในการดูแลรักษาบ้านทั้งหลัง ไม่ว่าจะเป็นค่าสิ่งของ เครื่องใช้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ใหม่ และค่าใช้จ่ายรายเดือนอย่างภาษีอสังหาริมทรัพย์ การทำประกันภัยที่พักอาศัย รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดอย่างค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา

ซึ่งนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ตอบรับกระแสดังกล่าวด้วยการหันมาสร้างชุมชนของบ้านเช่าแบบครอบครัวเดี่ยวที่ไม่ผูกมัดถาวรที่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของคนยุคมิลเลนเนียลด้วย

แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะยังมองว่าการเป็นเจ้าของบ้านยังคงมีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จ แต่ทัศนคติของคน “เจนซี” (Gen Z) ที่มีอายุน้อยกว่า 23 ปีลงไปยังคงต้องจับตามอง เพราะมี 85% ของคนเจนซีที่มองว่าการเป็นเจ้าของบ้านเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งน้อยกว่าชาวมิลเลนเนียลที่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว 88% สถานการณ์นี้กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับความต้องการที่พักอาศัย โดยที่การมีบ้านเป็นของตนเองอาจไม่ใช่ความฝันของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป