สัญญาณอันตราย ‘ภาคการเงินจีน’ รัฐวิสาหกิจเบี้ยวหนี้พุ่ง 3 เท่า

จีนมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากสงครามการค้า ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ นอกจากนี้ยังเผชิญกับแรงกดดันภายในประเทศจากภาระหนี้ของบริษัทรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ท้าทายยิ่งกว่าปัจจัยภายนอก และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

บริษัทรัฐวิสาหกิจจีนเริ่มผิดชำระหนี้ครั้งแรกในปี 2014 สาเหตุจากขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน ปัจจุบันการผิดชำระหนี้ของบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น “บลูมเบิร์ก” รายงานว่า ล่าสุด “เทวู กรุ๊ป” (Tewoo Group) บริษัทรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลมณฑลเทียนจิน ซึ่งประกอบธุรกิจหลากหลาย เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ ประกาศว่าบริษัทไม่สามารถชำระหนี้จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีกำหนดชำระเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการผิดนัดชำระหนี้จากหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

นอกจากนี้พบว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มีการผิดชำระหุ้นกู้ถึง 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 3 เท่า และเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ปัจจุบันจีนมีหนี้สินมหาศาล โดยรายงานสำรวจภาวะหนี้จากทั่วโลก ปี 2019 ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ระบุว่า จีนมีสัดส่วนหนี้ทั้งหมด 303% ต่อจีดีพี คิดเป็นเม็ดเงินถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15% ของหนี้สินทั่วโลก

โดยหนี้ของรัฐบาลมีสัดส่วนเพียง 50.5% ต่อจีดีพี แต่ปัญหาหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะ “บริษัทรัฐวิสาหกิจ” ถือเป็นปัญหาใหญ่ของจีน โดยรายงานจากองค์กรความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ระบุว่า ในปี 2018 บริษัทรัฐวิสาหกิจจีนมีสัดส่วนหนี้สินถึง 124% ต่อจีดีพี ซึ่งจีนมีรัฐวิสาหกิจประมาณ 174,000 แห่ง จำนวนมากกว่าประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาทั้งหมดรวมกัน

ทั้งนี้ การสะสมหนี้ของรัฐวิสาหกิจมีสาเหตุมาจากต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน รวมถึงนโยบายของทางการจีนซึ่งใช้รัฐวิสาหกิจเป็นตัวนำสำหรับการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

ธนาคารกลางของจีนยังออกรายงานเสถียรภาพทางการเงินประจำปี 2019 แสดงความกังวลถึงปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 53.5% ของจีดีพี แต่คิดเป็นสัดส่วนถึง 99.9% ของรายได้ภาคครัวเรือน

การผิดชำระหนี้ของบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนส่งผลต่อภาคธนาคารและสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินท้องถิ่น ซึ่งปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ธนาคารกลางยังระบุอีกว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินท้องถิ่นจำนวน 586 แห่ง จาก 4,400 กว่าแห่ง ตกอยู่ในความเสี่ยงสูงอาจล้มละลายได้

แม้ว่าทางการจีนจะพยายามไม่เข้าช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดพฤติกรรม “ศีลธรรมวิบัติ” (moral hazard) ของธุรกิจ ที่มักดำเนินพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง เพราะเชื่อว่ารัฐบาลต้องเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา โดย “แอนดริว ทิลตัน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของโกลด์แมน แซกส์ กล่าวว่า “รัฐบาลจีนไม่พยายามดำเนินมาตรการเข้าเพื่อช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา” แต่ทางการจีนจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา เนื่องจากหากสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งต้องล้มละลายอาจส่งผลต่อระบบการเงินทั้งประเทศได้

“ไฟแนนเชียล ไทมส์” รายงานว่า เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทางการจีนโดย “คณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารและประกันภัยแห่งชาติ” เข้าสนับสนุนทางการเงินให้กับธนาคารเปาซาง” เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ถือเป็นการเข้า “เทกโอเวอร์” สถาบันการเงินที่มีปัญหาเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนส่งผลต่อระบบการเงินทั้งประเทศ จากนั้นก็ได้เข้าช่วยเหลือธนาคารท้องถิ่นที่มีปัญหาอีก 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารจิงโจว และธนาคารเฮิงเฟิง เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

ปัญหาความกังวลต่อสถาบันการเงินไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ล่าสุดเมื่อต้นเดือน พ.ย. เกิดเหตุการณ์ประชาชนแห่ถอนเงินฝากจาก “ธนาคารยิงโขว” ธนาคารท้องถิ่นในมณฑลเหลียวหนิง ท่ามกลางกระแสข่าวปัญหาสภาพคล่องของธนาคาร ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นได้พยายามคลายความกังวลของประชาชน โดยการติดป้ายหน้าสาขาธนาคาร ระบุว่า “ธนาคารไม่มีปัญหาสภาพคล่อง”

เรียกว่าสัญญาณเตือนภัยของระบบการเงินจีนกำลังปะทุขึ้นในหลายพื้นที่

ส่วนการคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจจีนที่ระดับ 6-6.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี เป็นผลกระทบมาจากบรรยากาศสงครามการค้า ทำให้ทางการจีนจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศท่ามกลางปัญหาหนี้สินจำนวนมาก เช่น การลดภาษีผู้บริโภค รวมถึงการกระตุ้นให้รัฐบาลท้องถิ่นเร่งกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดย “กระทรวงการคลังจีน” เปิดเผยว่าได้มีการออกคำสั่งให้รัฐบาลท้องถิ่นเร่งออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาลกลาง เพื่อรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ


โดยที่มาตรการดังกล่าวอาจยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ภายในประเทศจีนให้บานปลายยิ่งขึ้น