สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งอาจกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ล่าสุดส่งสัญญาณจะยืดเยื้อออกไปถึงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเดือน พ.ย. 2020
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างการประชุมสุดยอดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ระบุว่า “ในบางครั้งผมชอบความคิดที่ว่าจะรอเจรจากับจีนหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่พวกเขาต้องการทำข้อตกลงในขณะนี้ และเราจะได้เห็นว่าข้อตกลงนั้นดีหรือไม่” ซึ่งหลังจากที่ทรัมป์ส่งสัญญาณดังกล่าว ทำให้ตลาดหุ้นร่วงอย่างรวดเร็ว
ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐมีมติ 407 ต่อ 1 เสียงในการผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลของทรัมป์ต้องประณามและดำเนินมาตรการตอบโต้การจีนที่ใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ โดยต้องเรียกร้องให้จีนปิดค่ายกักกันขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ รวมทั้งคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยพุ่งเป้าไปที่นายเฉิน ฉวนกั๋ว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิตส์ประจำซินเจียง
ทางการจีนได้ออกมาตอบโต้การตัดสินใจดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยระบุว่า กฎหมายดังกล่าวคือการโจมตีจีน พร้อมทั้งเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกการออกกฎหมายดังกล่าว โดยจีนจะปกป้องผลประโยชน์ของตนตามความจำเป็น นอกจากนี้ยังมีสัญญาณเตือนว่า การออกกฎหมายครั้งนี้ของสหรัฐอาจเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสองประเทศ
กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการเจรจาระหว่างสองฝ่ายที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความคืบหน้าแต่แหล่งข่าวของรอยเตอร์สระบุว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีบางประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ อย่างเรื่องการยกเลิกภาษีศุลกากรที่สหรัฐเรียกเก็บจากหารนำเข้าสินค้าของจีน และการซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐ รวมถึงกำหนดการขึ้นอัตราภาษีสินค้าจีนอีกรอบในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ หากการเจรจาไม่มีความคืบหน้า
อย่างไรก็ตาม กฎหมายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์นี้ยังจะต้องผ่านการพิจารณาโดยวุฒิสภาสหรัฐ ก่อนที่จะส่งไปยังทำเนียบขาวเพื่อให้ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามจึงจะมีผลบังคับใช้ โดยเป็นโอกาสที่ทรัมป์จะลงนามหรือไม่ลงนามเพื่อใช้กฎหมายนี้เป็นข้อต่อรองกับจีนได้
นางดิลซาท ราซิท โฆษกของสภาอุยกูร์โลกระบุในแถลงการณ์ว่า กฎหมายนี้มีความสำคัญในการต่อต้านการกดขี่ข่มเหงของจีนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และองค์กรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทรัมป์จะลงนามในกฎหมาย
นักวิเคราะห์บางรายระบุว่า ปฏิกิริยาของจีนต่อกฎหมายฉบับนี้อาจรุนแรงกว่า “กฎหมายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง” โดยเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นแล้วจากการที่จีนห้ามสั่งห้ามเรือและเครื่องบินทางการทหารของสหรัฐเข้าสู่หมู่เกาะฮ่องกง รวมถึงห้ามหลายองค์กรเอ็นจีโอที่มีฐานอยู่ในสหรัฐเดินทางเข้าประเทศอีกด้วย
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า กำลังมีการพิจารณามาตรการตอบโต้อยู่ในขณะนี้ ขณะที่โกลบอล ไทมส์ สื่อของทางการจีนระบุว่า เร็ว ๆ นี้รัฐบาลจีนเตรียมที่จะเปิดเผยรายชื่อ “หน่วยงานต่างชาติที่ไม่น่าเชื่อถือ” ซึ่งจะถูกคว่ำบาตรจากทางการจีนเพราะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยหน่วยงานของสหรัฐเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในรายชื่อเหล่านี้