“เงินเฟ้อขยับ-ว่างงานต่ำ” สัญญาณบวกเศรษฐกิจ “ยูโรโซน”

หลายปีที่ผ่านมายุโรปต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินที่แก้ไม่ตก จากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากหลายปัจจัยที่รุมเร้าเศรษฐกิจยุโรป ทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความไม่แน่นอนของการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิต) รวมถึงภาวะหยุดชะงักของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วยุโรป ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรหรือ “ยูโรโซน” ตกอยู่ในภาวะชะลอตัว

แต่ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปหรือ “ยูโรสแตต” ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าจะทำให้ผู้บริหารธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) มีความหวังมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน พ.ย. 2019 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1% จากเดือน ต.ค.อยู่ที่เพียง 0.7%

สาเหตุสำคัญมาจากราคาสินค้าและบริการในยุโรปปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบที่ราคาเพิ่มขึ้น 2% ในเดือน พ.ย. ขณะที่ราคาภาคบริการก็ปรับตัวสูงขึ้น 1.9% ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่ราคาสินค้าและบริการของเยอรมนีสูงขึ้นในช่วงวันหยุด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีขึ้นมาอยู่ที่ 1.2% นอกจากนี้สโลวะเกีย เนเธอร์แลนด์ และลัตเวีย ก็มีอัตราเงินเฟ้อมากกว่า 2% แต่บางประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 0.5% คือ โปรตุเกส เบลเยียม และอิตาลี

ก่อนหน้านี้ อีซีบีได้พยายามออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อต่ำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ลงมาอยู่ที่ -0.5% ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าศูนย์เป็นประวัติการณ์ และเริ่มใช้มาตรการซื้อพันธบัตรอีก 20,000 ล้านยูโรตามนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (คิวอี)

“เฟรเดอริก ดูโครเซต์” นักเศรษฐศาสตร์ของปิกเตต์ เวลท์ แมเนจเมนต์ (Pictet Wealth Management) ระบุว่า “ข้อมูลเงินเฟ้อนี้จะช่วยให้กับคริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบีคนใหม่ มีเวลามากขึ้นในการใส่ใจไปที่ประเด็นระยะยาวและทบทวนยุทธศาสตร์ทางการเงินของอีซีบี”

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อครั้งนี้ แม้ว่าจะสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 0.9% แต่ยังคงห่างไกลจากความมุ่งหวังของอีซีบีที่ต้องการให้อัตราเงินเฟ้อขยับเข้าใกล้ 2% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ราคาสินค้าและบริการที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นนี้ ยังเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่ไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในระยะยาวได้ “เจสสิกา ไฮนส์” นักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอลอีโคโนมิกส์ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ “อาจจะยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของแนวโน้มขาขึ้นของแรงกดดันด้านราคา อีซีบียังคงมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อผลักดันอัตราเงินเฟ้อ”

ทั้งนี้อีซีบีคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อคงจะไม่สูงไปมากกว่านี้ตลอดปี 2020 ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5% ในปี 2021 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์มองว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในปี 2020-2021 จะอยู่ในระดับ 1.3%-1.4% เท่านั้น

ขณะที่ไฟแนนเชียล ไทมส์รายงานว่า นอกจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นแล้ว ยูโรสแตตยังเปิดเผยข้อมูลว่า จำนวนผู้ว่างงานของยูโรโซนในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ลดลงถึง 31,000 คน เหลือเพียง 12.33 ล้านคน หรือ 7.5% จากจำนวนแรงงานทั้งหมด นับว่าต่ำสุดในรอบ 11 ปี

แม้ว่าอีซีบีและรัฐบาลในกลุ่มประเทศยูโรโซนจะพยายามอย่างหนักในการแก้ปัญหาว่างงาน ให้ภาคธุรกิจจ้างงานมากขึ้น ซึ่งจะหนุนราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การเพิ่มอัตราเงินเฟ้อด้วย แต่ความพยายามดังกล่าวดูจะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายของอีซีบี จากอัตราเงินเฟ้อที่ไม่เข้าใกล้ 2% มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม เอพีรายงานว่า ตัวเลขของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ซึ่งไม่นับรวมสินค้าประเภทอาหาร แอลกอฮอล์ ยาสูบและพลังงานที่ราคาขึ้นลงตามฤดูกาล ก็เพิ่มขึ้นจาก 1.1% ในเดือน ต.ค. เป็น 1.3% ใน พ.ย.ที่ผ่านมา ก็เป็นภาพสะท้อนว่าการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วย


ยังคงต้องจับตาดูการประชุมของอีซีบีในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าอีซีบียังคงจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรมากนักในอีกหลายเดือนข้างหน้า แต่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอัตราการว่างงานที่ต่ำลง ต่างเป็นสัญญาณว่าความพยายามของอีซีบีเริ่มส่งผล และเศรษฐกิจยุโรปกำลังมีความหวังขึ้นอีกครั้ง