เทรนด์ “ฮาลาลแทรเวล” อภิมหากำลังซื้อ “มุสลิม”

“ท่องเที่ยวฮาลาล” หรือการท่องเที่ยวของชาวมุสลิม ถือเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ รายงานวิจัยของ “มาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้ง” (Mastercard-Crescent Rating) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2020 จะเป็นเทรนด์ของตลาดท่องเที่ยวแบบฮาลาล และคาดว่าในปี 2026 กลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมจะพุ่งแตะระดับที่ 230 ล้านคน ทั้งยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อมหาศาลเท่า ๆ กับนักท่องเที่ยวชาวจีน

“Global Muslim Travel Index 2019” (GMTI) ของมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้ง ระบุว่า ในปี 2020 จะเห็นปรากฏการณ์ของ “ฮาลาลแทรเวล” มากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มมากที่สุดในโลก โดยประเมินว่าภายในปี 2060 ชาวมุสลิมจะเพิ่มขึ้น 70%, ชาวคริสต์ 34%, ชาวฮินดู 27%, ชาวยิว 15% แต่ชาวพุทธจะลดลงราว 7%

ขณะที่ “ผู้หญิงมุสลิม” จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าจับตามองมากที่สุด โดยประเมินว่าปี 2020 ผู้หญิงมุสลิมจะออกเดินทางท่องโลกกันมากขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวแบบครอบครัว, เพื่อนผู้หญิง และการท่องเที่ยวเดี่ยว (solo travels) ซึ่งในปี 2018 มีผู้หญิงชาวมุสลิมกว่า 63 ล้านคนท่องเที่ยวใน 130 ประเทศทั่วโลก โดยกว่า 28% ของการเดินทางเป็นแบบโซโลแทรเวล และกลุ่มดังกล่าวใช้จ่ายไปมากกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะใช้จ่ายมากขึ้นแตะ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่านั้นในปีหน้า

รายงานฉบับนี้ได้คาดการณ์ว่าในปี 2020 ธุรกิจท่องเที่ยวฮาลาลในระบบเศรษฐกิจโลกจะคิดเป็นมูลค่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวมุสลิมจาก “ซาอุดีอาระเบีย” จะเติบโตมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยประเทศอื่นในตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ราว 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวผู้หญิงมุสลิมมีอายุราว 40 ปีหรือน้อยกว่า และมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักเดินทางกลุ่มนี้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการแนะนำจากแพลตฟอร์มบุ๊กกิ้งออนไลน์ ในการหาข้อมูลที่พัก การเดินทาง และร้านอาหารต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม

รายงานฉบับนี้ได้สัมภาษณ์ชาวมุสลิมกว่า 1,000 คนจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย สหราชอาณาจักร โอมาน และซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า พวกเขาวางแผนเดินทางเฉลี่ย 2-3 ครั้ง/ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อการพักผ่อน 90% ตามด้วยการเดินทางเพื่อศาสนา 21% และเพื่อธุรกิจ 11%

โดยการเดินทางของผู้หญิงชาวมุสลิม 94% ให้ความสำคัญกับร้านอาหารฮาลาล, ราว 86% คำนึงถึงห้องละหมาดที่ให้บริการเฉพาะผู้หญิง และ 79% คำนึงถึงร้านสปาและสถานเสริมความงามต่าง ๆ ที่ให้บริการเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น

“รูดาห์ ซาอินี” หัวหน้าฝ่ายการตลาดของเครสเซนต์เรตติ้งและฮาลาลทริป กล่าวว่า แม้ว่าการเดินทางของชาวมุสลิมจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันงานวิจัยและการศึกษาเกี่ยวกับตลาดท่องเที่ยวฮาลาลยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งรายงานฉบับนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจได้มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจและความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น

แต่ที่น่าสนใจจากการสำรวจครั้งนี้ “สิงคโปร์” แม้ว่าจะมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่เพียง 14% แต่กลับเป็นประเทศจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (non-OIC) จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการและธุรกิจที่รองรับข้อปฏิบัติตามหลักศาสนา เช่น กำหนดให้ฟู้ดเซ็นเตอร์ต่าง ๆ เช่น ในท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงี ที่มีโซนอาหารฮาลาลแยกเฉพาะ

ขณะที่ “ไทย” เป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 2 ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมให้ความสนใจ ตามด้วยสหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และไต้หวัน

สำหรับ “ท็อป 7” ของประเทศที่เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวยอดนิยม ที่เป็นสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) อันดับหนึ่ง ได้แก่ “อินโดนีเซีย” ตามด้วยมาเลเซีย, ตุรกี, ซาอุดีอาระเบีย, โมร็อกโก, โอมาน และบรูไน

“ฟาซาล บาฮาร์ดีน” ซีอีโอของเครสเซนต์เรตติ้งและฮาลาลทริป กล่าวถึงหลายประเทศที่อยู่ในจุดหมายปลายทางยอดนิยมว่า เพราะมีการปรับตัวที่ค่อนข้างดี อย่าง “อินโดนีเซีย” ที่ขึ้นมาจากอันดับ 2 จากการสำรวจครั้งก่อน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมบางส่วนระบุว่า อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบน้ำประปาสะอาดเหมาะกับการใช้ชำระร่างกาย และสามารถหาได้ง่าย รวมไปถึงมีโรงแรมและที่พักบนแพลตฟอร์มบุ๊กกิ้งออนไลน์ที่ระบุว่า “ฮาลาลแทรเวล” เช่น โรงแรม Riyantini ที่มีพนักงานกล่าวสวัสดีเป็นภาษาอิสลาม, การเปิดบทสวดศาสนาอิสลามภายในโรงแรม และจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องละหมาด เป็นต้น

ส่วน “ญี่ปุ่น” ไม่ใช่ประเทศมุสลิมแต่เตรียมตัวต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมมานาน กระทรวงการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้แตะ 1.4 ล้านคนในปี 2020 ซึ่งเป็นปีแห่งการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกของญี่ปุ่น จากจำนวน 700,000 คนในปี 2017 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีแอปพลิเคชั่นแนะนำ “ร้านอาหารฮาลาลที่ดีที่สุด” ในแต่ละย่านท่องเที่ยวด้วย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม

สำหรับในไทย ขณะนี้มีโรงแรมและที่พักเพียงบางแห่งที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม เช่น โรงแรมอัลมีรอซ (Al Meroz) ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงแรมฮาลาลแห่งแรกของไทย มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า “ไทยมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวฮาลาลที่ช้ากว่าบางประเทศที่อยู่ “ท็อปเดสติเนชั่น” ของกลุ่มนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก”