Top 5 ส่งออก “อังกฤษ” ตลาดใหม่หลัง “เบร็กซิต”

การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในวันที่ 12 ธ.ค.นี้มีความสำคัญมาก เพราะมีส่วนชี้ชะตา “เบร็กซิต” หรือการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ภายหลังจากที่อียูขยายเส้นตายให้เป็นวันที่ 31 ม.ค. 2020 แต่ยังต้องลุ้นว่าจะเป็นเบร็กซิตที่มีข้อตกลงหรือไม่

ที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษเริ่มใช้นโยบายการต่างประเทศแบบใหม่ ที่ลดการพึ่งพาตลาดอียู และหันไปทำการค้าและการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะกับ “อาเซียน” ซึ่งมองว่าเป็นภูมิภาคสดใหม่ที่มีศักยภาพสูง

ข้อมูล “ศูนย์การค้าระหว่างประเทศ” ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่าในปี 2018 สหราชอาณาจักร (ยูเค) ส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่าราว 487,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคู่ค้ารายใหญ่ของยูเค ได้แก่ “อียู” คิดเป็นสัดส่วนถึง 46.6% ของการส่งออกทั้งหมด

“เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม” (WEF) เปิดเผยว่า อังกฤษได้ส่งออกสินค้า เช่น เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า น้ำมันดิบ รถยนต์ เครื่องมือการแพทย์ เครื่องบินและชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ แต่หากคิดเป็นรายประเทศแล้ว ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งยังคงเป็น “สหรัฐอเมริกา” มูลค่า 65,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 13.4% ของการส่งออกในปี 2018

ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ “เยอรมนี” มูลค่าการส่งออก 46,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.6%, อันดับ 3 “เนเธอร์แลนด์” 33,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.8%, “ฝรั่งเศส” ตามมาเป็นอันดับ 4 มูลค่าส่งออก 31,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.5% และอันดับ 5 “ไอร์แลนด์” 28,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.8%

สำหรับ “จีน” ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 6 และเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 27,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.7% ตามด้วยฮ่องกง (2.1%), ญี่ปุ่น (1.7%) และเกาหลีใต้ (1.6%) ส่วนประเทศอาเซียนที่ยูเคส่งออกสินค้า ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย

นอกจากนี้ รายงานระบุถึงบริษัทส่งออกรายใหญ่ที่สำคัญของโลก ที่ติดในลิสต์ของ “Forbes Global 2000” เปิดเผยเมื่อเดือน มี.ค. 2019 ซึ่งมีบริษัทในยูเคติดอยู่เกือบ 90 ราย อาทิ Anglo American บริษัทเหมืองแร่ข้ามชาติของอังกฤษ, Associated British Foods บริษัทแปรรูปอาหารและค้าปลีก, AstraZeneca บริษัทยาและชีวเภสัชภัณฑ์ และ BG Group บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของอังกฤษ เป็นต้น

“ฌอน เฟลมมิ่ง” นักวิเคราะห์ของ WEF ระบุว่า การดำเนินนโยบายในช่วงหลังเบร็กซิตของอังกฤษน่าติดตาม เพราะที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี “เทเรซ่า เมย์” แสดงความสนใจตลาดเอเชีย โดยเฉพาะจีนกับอินเดีย ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้กล่าวถึงศักยภาพของตลาดอาเซียน และล่าสุด เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก กล่าวบนเวทีการประชุมสุดยอด ABIS 2019 ที่กรุงเทพฯ ย้ำถึงแนวทางการหาพันธมิตรใหม่นอกภูมิภาค เพื่อทำการค้าร่วมกัน ไม่ใช่แค่เพิ่มการส่งออกเท่านั้น

ดังนั้น มองว่าประเทศในเอเชียรวมถึงชาติอาเซียนที่นำเข้าสินค้าจากยูเคอยู่เดิม น่าจะได้อานิสงส์ในการต่อยอดทำธุรกิจกับยูเคได้ง่ายขึ้นในอนาคต