โกลด์แมนฯชี้ “ทอง” ราคาพุ่ง ระบบการเงินใหม่ MMT หนุนส่ง

This photo taken on May 22, 2011 shows a worker laying out gold necklaces at a gold shop in Huaibei, east China's Anhui province. Gold, fresh from striking record highs at the start of this month, will enjoy buoyant demand this year, particularly from China and India, the World Gold Council said in a report . CHINA OUT AFP PHOTO (Photo by STR / AFP)

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ


โกลด์แมน แซกส์ วาณิชธนกิจและบริษัทบริการทางการเงินชื่อดังระดับโลกของสหรัฐ ออกมาระบุเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า คาดว่าในระยะ 12 เดือนข้างหน้าราคาทองคำจะขยับขึ้นไปแตะ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 8.5% จากราคาเปิดของวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม ทั้งนี้ราคาทองคำปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบ 14% ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยต่ำและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ในระดับปานกลาง

มิคาอิล สปอร์กิส นักวิเคราะห์โลหะมีค่าของโกลด์แมน แซกส์ บอกว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่าราคาทองคำจะพุ่งขึ้นก็เพราะขณะนี้มีการกล่าวถึง ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ หรือ Modern Monetary Theory (MMT) มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทฤษฎีนี้บอกว่าหนี้และการขาดดุลไม่เป็นปัญหาตราบใดที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ผู้สนับสนุนทฤษฎีนี้จึงแนะนำให้รัฐบาลใช้โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยต่ำลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และโครงการด้านสังคมเพื่อกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ

ถึงแม้โกลด์แมน แซกส์ จะไม่คาดหวังว่า MMT จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง แต่การที่เริ่มมีการพูดถึง MMT หนาหูมากขึ้นจะก่อให้เกิดความกังวลเรื่องการลดค่าเงิน และเงินเฟ้อพุ่งทะยาน ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วเมื่อใดก็ตามที่สองสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นจะทำให้คนหันมานิยมซื้อทองคำเพื่อเป็นหลักประกันหรือเป็นเครื่องมือป้องกันเอาไว้ก่อน

“ในยามที่เกิดความไม่แน่นอน สินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและเก็บสะสมความมั่งคั่งสู้กับเงินเฟ้อ”

นอกเหนือจาก MMT แล้ว โกลด์แมนฯชี้ว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐจะทำให้ตลาดเกิดความปั่นป่วน เกิดแรงหนุนส่งให้ทองคำได้รับความนิยมอีกด้วย ซึ่งความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐนั้นเกิดจากปัญหาความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้งการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา ที่ยังไม่แน่นอนว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนราคาทองคำในปีหน้า ทั้งนี้ความกังวลว่าเงินจะลดค่าลงอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2008 ในสหรัฐก่อให้เกิดความกลัวว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้น ก็ปรากฏว่าสร้างผลบวกให้กับราคาทองคำ

ปัจจุบัน MMT กำลังได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองปีกซ้ายของสหรัฐ เช่น เบอร์นี่ แซนเดอร์ ส.ว.เดโมแครต และ อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เทซ ส.ส.เดโมแครต ซึ่งทั้งสองกำลังรณรงค์หาเสียงเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ในซีกของนักเศรษฐศาสตร์เองมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน MMT โดยฝ่ายสนับสนุนอ้างว่ารัฐบาลสามารถพิมพ์เงินออกมาใช้ตามความจำเป็น เพราะในทางทฤษฎีมันคือหนี้รัฐบาลและมันจะไม่มีวันผิดนัดชำระหนี้ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีเพื่อนำไปจ่ายหนี้อีกด้วย ทำให้รัฐบาลสามารถมุ่งสมาธิไปที่การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการเพื่อสังคม โดยไม่ต้องกังวลว่าจะหาเงินมาจากไหน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคัดค้าน เช่น ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจรัฐบาลโอบามาและอดีตรัฐมนตรีคลังยุคบิลล์ คลินตัน บอกว่า MMT คือ “เศรษฐศาสตร์เวทมนตร์” (voodoo economics) และเป็น “สูตรแห่งหายนะ” เช่นเดียวกับ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่รณรงค์ต่อต้าน MMT อยู่เสมอ ขณะเดียวกันประเทศที่ใช้นโยบายคล้าย ๆ MMT เช่น เวเนซุเอลา ก็เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งตามข้อมูลของไอเอ็มเอฟ ระบุว่าเพียงไม่กี่ปีเงินเฟ้อในประเทศนี้เพิ่มขึ้น 10 ล้านเปอร์เซ็นต์

MMT เกิดขึ้นจากความพยายามของนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐบางคนเพื่อหาทางแก้ปัญหาการว่างงาน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความไม่เท่าเทียม ผู้คิดค้นก็คือ ลาร์รี แรนดอล เรย์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์บาร์ด คอลเลจ และนักวิชาการอาวุโสสถาบันเศรษฐศาสตร์เลวี่ หลักการก็คือตราบใดที่ประเทศนั้น ๆ มีหนี้เป็นสกุลเงินของตัวเอง ก็ไม่มีทางล้มละลาย ถ้ารายได้ของประเทศลดลง

ธนาคารกลางก็ต้องเข้ามาสนับสนุนทางการเงิน เขาบอกว่าประเทศต่าง ๆ ควรได้รับอนุญาตให้ใช้จ่ายมากเท่าที่ต้องการ วิธีนี้เคยสร้างปาฏิหาริย์ให้กับเศรษฐกิจมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2


เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เรย์ได้รับเชิญจากสภาคองเกรสไปให้ปากคำเกี่ยวกับ MMT