“ทูตปากีฯ” ชี้ยุติความขัดแย้ง “แคชเมียร์” ด้วย “ประชามติ”

สถานเอกอัครราชทูตปากีสถาน ประจำประเทศไทยจัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ “แคชเมียร์” เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดย ฯพณฯ อาซิม อิฟติกา อาหมัด เอกอัครราชทูตปากีสถาน ประจำประเทศไทย ชี้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแคชเมียร์ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง พร้อมยืนยันว่า หนทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยั่งยืนคือ การให้ประชาชนชาวแคชเมียร์ตัดสินผ่านการทำประชามติตามแนวทางที่ทางสหประชาชาติเคยเสนอไว้

“สิทธิมนุษยชน” ถูกละเมิด “สื่อมวลชน” ถูกปิดกั้น

ทูตปากีสถานประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า ปัจจุบันความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นทุกขณะ ภายหลังอินเดียยกเลิกมาตรา 370  เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา สร้างความตึงเครียดให้กับทั้งฝ่ายอินเดียและปากีสถาน โดยทั้งสองฝ่ายเพิ่มจำนวนทหารในบริเวณนั้นรวมกันกว่า 180,000 นาย กลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่มีทหารหนาแน่นที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีการตัดขาดแคชเมียร์ออกจากโลกภายนอก โดยการปิดกั้นการสื่อสารต่าง ๆ เช่น การตัดสัญญาณโทรศัพท์ การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึงการปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทั้งจากต่างประเทศและสื่อท้องถิ่นอีกด้วย

“Self Determination” คือ ก่อการร้าย ?

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นทางฝ่ายอินเดียมองว่า ขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของประชาชนชาวแคชเมียร์ และการปฏิบัติการของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธเป็น “การก่อการร้าย” อย่างไรก็ตาม ฯพณฯ อาซิม อิฟติกา อาหมัด ได้แสดงความเห็นแย้งต่อมุมมองดังกล่าวว่า การเรียกร้องสิทธิในการตัดสินใจในด้านการปกครองด้วยตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก (Sef Determination) ของประชาชนชาวแคชเมียร์ ไม่ใช่การก่อการร้ายตามที่อินเดียกล่าวอ้าง

ประชามติ” เพื่อยุติปัญหา หนทางออกที่ดีที่สุด

ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเหนือพื้นที่ทับซ้อน “แคชเมียร์” กินระยะเวลามานานถึง 72 ปี จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งนี้กว่า 100,000 ชีวิต ทูตปากีสถานประจำประเทศไทย ชี้ว่า หนทางยุติความปัญหาที่ยั่งยืน คือ การดำเนินตามแนวทางที่ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เคยเสนอไว้เมื่อปี 1948 โดยให้ประชาชนชาวแคชเมียร์ตัดสินใจผ่านการลงประชามติภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีวี่แววว่าการลงประชามติดังกล่าวจะเกิดขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวแคชเมียร์จำนวนมาก