ข้อตกลงการค้าจีน-สหรัฐ สัญญาณคลี่คลายความขัดแย้ง ?

(Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ความตื่นเต้นต่อ “ความตกลงการค้าระยะที่หนึ่ง” ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา จืดจางหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่นานหลังการประกาศความตกลงดังกล่าวนี้ของทั้ง 2 ประเทศเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา

หลังจากที่ตรวจสอบเนื้อหาสาระของ “ความตกลง” ที่ว่านั้นแล้ว และพบข้อบกพร่อง สารัตถะที่ขาดหายไปมากมาย จนผู้สันทัดกรณีด้านการค้าระหว่างประเทศบางคนถึงกับออกปากว่า เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่ประกาศกันออกมาไม่ควรเรียกว่า ความตกลงการค้าด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นระยะที่หนึ่ง หรือเป็นความตกลงเบื้องต้นก็ตามที

ตัวอย่างสำคัญประการแรก ที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายตั้งข้อสังเกตก็คือ ความตกลงการค้าดังกล่าวนี้ต่างฝ่ายต่างทำขึ้น หลังจากตกลงกันในการเจรจา สหรัฐอเมริกาจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ จีนก็ทำเป็นภาษาจีน ไม่มีฉบับของจีนที่เป็นภาษาอังกฤษปรากฏให้เห็น แล้วก็ไม่มีฉบับภาษาจีนของสหรัฐอเมริกาปรากฏเผยแพร่ออกมาเช่นเดียวกัน

กรณีนี้มีนัยสำคัญตรงที่ “ความตกลง” นี้จะก่อให้เกิดปัญหา “ความเข้าใจร่วม” หรือ “ความเข้าใจที่ตรงกัน” ในความหมายของเนื้อความสำคัญ ๆ ในความตกลงขึ้นได้

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ความตกลงระหว่างประเทศใด ๆ นอกเหนือจากจัดทำเป็นภาษาของคู่ความตกลงแล้ว ยังต้องจัดทำเป็นภาษากลางสำหรับยึดถือในสาระสำคัญให้ตรงกัน

ไม่ใช่ต่างคนต่างเข้าใจไปคนละอย่าง คนละทาง ซึ่งจะลงเอยเหมือนกับการกล่าวหาซึ่งกันและกันที่ผ่านมาระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาว่า อีกฝ่ายไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้บนโต๊ะเจรจานั่นเอง

ข้อสังเกตอีกประการที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “เงื่อนไข” ซึ่งนำมาสู่การทำความตกลงซึ่งกันและกันในครั้งนี้

ในรายละเอียดที่เผยแพร่โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกานั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เต็มไปด้วยรายละเอียดจำเพาะเจาะจงลงไปในเรื่องการลดการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา แต่กลับไม่มีรายละเอียดจำเพาะเจาะจงในส่วนของจีนปรากฏให้เห็น

ทำนองเดียวกัน ในส่วนที่ระบุเอาไว้เป็นเงื่อนไขว่า จีนกำหนดจะซื้อสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์จากสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลา 2 ปี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการระงับและการลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนสู่สหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีรายละเอียดกำกับไว้แบบเจาะจงว่า จีนต้องซื้อสินค้าอะไร และต้องเริ่มซื้อเมื่อใด เท่าใดกันแน่ ?

ยิ่งไปกว่านั้นมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่นำมาอ้างอิงกันอยู่นั้น เป็นมูลค่ารวมของการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกาของจีน ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ “คิดเอาว่า” จะเป็นเช่นนั้นเท่านั้นเอง

หากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันจริง และต้องการทำให้เรื่องนี้เป็นจริง ต้องมีกำหนดจำเพาะเจาะจงลงไปได้ เพราะกำหนดง่าย ตรวจสอบได้ง่าย เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง แต่ทำไมไม่กำหนดไว้ ปล่อยให้คลุมเครืออย่างมากเช่นนี้ ก็กลายเป็นเครื่องหมายคำถามมหึมาอยู่เหมือนกัน

แต่ส่วนที่ขาดหายไปอย่างสำคัญในความตกลงทางการค้าครั้งนี้ก็คือ ส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับ “การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าของจีน “ในด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา, การถ่ายทอดเทคโนโลยี, การบริการทางการเงินและกระบวนการปริวรรตเงินตรา” ซึ่งสหรัฐอเมริกาเคยถือเป็น “หัวใจสำคัญ” อย่างยิ่งในการทำสงครามการค้ากับจีนในครั้งนี้

ถ้าหากมีความคืบหน้าในการทำความตกลงกันที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเหล่านี้ ทำไมต้องปกปิด คลุมเครือเอาไว้ เพราะนี่คือความสำเร็จที่สำคัญที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับฝ่ายสหรัฐอเมริกา ?

ถ้าหากไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในเรื่องสำคัญในระดับนี้ ทำไมถึงต้องทำเป็นเสมือนหนึ่งว่ามีความคืบหน้า จนสามารถทำเป็น “ความตกลงทางการค้า” ระยะแรกกันขึ้นมาได้ ? หลายคนยังคงงงงวยอยู่จนถึงขณะนี้

หรือจำเป็นต้องทำเช่นนั้นเพียงเพื่อให้ได้มีข้ออ้างในการทำความตกลง ซึ่งจะยังคงให้ทั้ง 2 ฝ่าย “หย่าศึกการค้า” กันได้ชั่วคราวเท่านั้น

ข้อดีในทางบวกเพียงประการเดียวที่ผู้สันทัดกรณีทางการค้าหลาย ๆ คนพบเห็นได้จากความตกลงการค้าระยะแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ ภาคภูมิใจนักหนานี้ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า การประกาศความตกลงทางการค้าระหว่างกันขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่มีความหมายสำคัญใด ๆ ในเชิงการค้าครั้งนี้ หมายถึงว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ไม่ต้องการให้สงครามการค้าระหว่างกันครั้งนี้ ลุกลามต่อไปจนครอบคลุมการค้าระหว่างกันทั้งหมด แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง เท่านั้นเอง

แต่ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่สะท้อนออกมาจากความตกลงครั้งนี้ก็คือ ความขัดแย้งทางการค้าและการแย่งชิงอิทธิพลการเป็นใหญ่ในโลกเทคโนโลยีระหว่างประเทศทั้งสอง ไม่ได้ขยับเข้าใกล้กันแม้แต่นิดเดียว

ที่เคยขัดแย้งกันหนักหนาสาหัส ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน

ดังนั้นใครที่คิดว่า ความตกลงการค้าครั้งนี้เป็นสัญญาณแสดงถึงการคลี่คลายของความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ก็อาจผิดหวังครั้งใหญ่ต่อไปได้อีกนาน