‘เทรดวอร์’ เข้มขึ้น ถ้า ‘ทรัมป์’ ชนะสมัย 2

REUTERS/Leah Millis?

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

แม้คนจำนวนไม่น้อยจะพุ่งความสนใจไปที่พรรคเดโมแครต ในฐานะมีแนวโน้มจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน ก็มีโอกาสจะได้รับเลือกตั้งสมัยที่ 2 เช่นกัน หากว่านับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง เขาสามารถรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ในระดับน่าพอใจ ด้วยเหตุนี้ บรรดานักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีตจึงเตรียมตัวให้พร้อมเช่นกันในกรณีที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งอีกสมัย

เหล่านักวิเคราะห์ไม่ว่าจะเป็น คริส ครูเกอร์ แห่งโคเวน อิงก์ ธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติ คลีต วิลเลมส์ อดีตที่ปรึกษาการค้าทำเนียบขาว เรย์มอน เมสส์ แห่งเอ็ดมิลส์ ชี้ว่าหากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย เขาจะกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีใครหยุดยั้งได้ ด้วยเหตุนั้น สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ สงครามการค้าที่เข้มข้นขึ้น การปรับลดภาษีภายในประเทศรอบใหม่ การผลักดันให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยตามที่รัฐบาลต้องการ

ในประเด็นของสงครามการค้า เชื่อว่านอกจากทรัมป์จะเปิดสงครามการค้าเพิ่มเติมกับคู่แข่งทางเศรษฐกิจอย่างจีน และอีกหลายประเทศแล้ว ยังจะเปิดศึกกับสถาบันการค้าพหุภาคีอย่างองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อบีบให้ WTO ปฏิรูปกฎเกณฑ์ระงับข้อพิพาททางการค้าที่สหรัฐอ้างว่าไม่เป็นธรรมกับตน และต้องการแก้ไขไปในทิศทางที่สหรัฐต้องการ เพราะนโยบายของทรัมป์นั้นไม่นิยมการค้าพหุภาคีเป็นทุนเดิม และเคยขู่จะถอนตัวจากองค์การนี้มาแล้ว

ความสำเร็จของสหรัฐในการกดดัน WTO เห็นได้จากเร็ว ๆ นี้ WTO ตัดสินให้สหรัฐชนะในคดีที่สหรัฐร้องว่า สหภาพยุโรป ให้การอุดหนุนการผลิตเครื่องบินแอร์บัส ทำให้เครื่องบินโบอิ้งของสหรัฐขายได้น้อยลง คำตัดสินดังกล่าวเปิดโอกาสให้สหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้าหลายอย่างที่นำเข้าจากยุโรปเป็นการตอบโต้

นอกจาก WTO แล้ว ปริมณฑลของสงครามต่อสถาบันพหุภาคียังลามไปถึงธนาคารโลก ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับจีน เห็นได้จากเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทรัมป์เรียกร้องให้ ธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอบีอาร์ดี) ภายใต้กำกับของธนาคารโลก เลิกปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่จีน เพราะจีนรวยแล้ว ขณะที่วัตถุประสงค์ของไอบีอาร์ดี คือ การปล่อยกู้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำจนถึงปานกลาง

นักวิเคราะห์ระบุว่า ในส่วนของการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่ทรัมป์กดดันธนาคารกลางมาตลอดนั้น หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 มีแนวโน้มสูงว่า เขาจะไม่ต่ออายุให้ เจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานเฟดคนปัจจุบัน หลังจากหมดวาระในปี 2022 เพราะไม่พอใจพาวเวลล์ เห็นได้จากการวิจารณ์พาวเวลล์อย่างรุนแรงอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็จะแต่งตั้งประธานเฟดที่ตอบสนองต่อความต้องการของเขา นั่นคือลดดอกเบี้ยให้ต่ำที่สุด ยิ่ง 0% ยิ่งดี เพราะทรัมป์เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตได้มากกว่านี้ หากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนนโยบายเศรษฐกิจในประเทศในกรณีที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีอีกรอบ คาดว่าทรัมป์จะปรับลดภาษีเงินได้ของชนชั้นกลางลงเหลือ 15% จาก 22% ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการที่จะใช้รณรงค์หาเสียงของทรัมป์ หวังได้คะแนนเสียงจากคนชั้นกลาง และเป็นการต่อยอดจากมาตรการปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 21% ในสมัยแรกของทรัมป์

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพรรคใดจะชนะเลือกตั้ง สภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้น คือ ไม่มีพรรคใดครองอำนาจเด็ดขาดทั้ง 2 สภา โดยที่มีแนวโน้มว่า เดโมแครตจะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนรีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ดังนั้นหากกรณีทรัมป์ชนะเลือกตั้ง การเสนอนโยบายที่ก้าวร้าวรุนแรงเกินไปก็จะถูกค้านโดยเดโมแครต ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของทรัมป์ที่จะทำสัญญาการค้าระยะยาวกับประเทศคู่ค้า หรือแม้กระทั่งการปรับลดภาษีรอบใหม่ที่เดโมแครตไม่เห็นด้วย