พระดำรัสวันคริสต์มาส “ควีนอังกฤษ” ตรัสปีนี้ค่อนข้างขรุขระแต่ก้าวก็ผ่านไปได้

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรได้มีพระราชดำรัสเนื่องในวันคริสต์มาสประจำปี 2019 โดยทรงระบุว่า สถานการณ์ในปีนี้ “ค่อนข้างขรุขระ” แต่ “การค่อย ๆ ก้าวเดิน” จะช่วยสมานความแตกแยกได้

ทั้งนี้ สำนักพระราชวังอังกฤษได้เปิดเผยว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงอัดเทปพระราชดำรัสเพื่อเผยแพร่ในวันคริสต์มาสเป็นประจำทุกปี โดยพระราชดำรัสวันคริสต์มาสในปีนี้ สมเด็จราชินีนาถทรงตรัสอ้างถึงประวัติของพระเยซูคริสต์และความสำคัญของความสมานฉันท์ปรองดอง ทรงระบุว่า “การค่อย ๆ ก้าวเดินไปด้วยศรัทธาและความหวังจะสามารถเอาชนะความแตกต่างและสมานความแตกแยกที่ร้าวลึกได้ ทั้งจะนำมาซึ่งความสมัครสมานสามัคคีและความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน”

“แน่นอนว่า หนทางไม่ราบรื่นเสมอไปและมีบางครั้งในปีนี้อาจจะต้องพบเจอความขรุขระบ้าง แต่การค่อย ๆ ก้าวเดินก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้”

นักวิเคราะห์มองว่า พระราชดำรัสดังกล่าวมีนัยถึงความวุ่นวายทางการเมืองของอังกฤษตลอดทั้งปี 2019 จากความพยายามของรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟของอังกฤษในการนำพาประเทศถอนตัวออกสหภาพยุโรปหรือ “เบร็กซิต” ที่ทำให้เกิดทางตันหลายต่อหลายครั้ง และทำให้ต้องมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอังกฤษด้วย นอกจากนี้ยังเกิดการแตกแยกทางความคิดกันอย่างรุนแรง การ “ค่อย ๆ ก้าวย่าง” คือ ความพยายามออกจากความขัดแย้งในเรื่องเบร็กซิต

ทั้งนี้ พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถมีขึ้นระหว่าง เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามที่ทรงมีชันษาถึง 98 ปี ซึ่งทรงต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลหลายครั้งตลอดทั้งปีหลังที่ทรงประสบอุบัติเหตุตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดทรงต้องเข้ารับการดูแลทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลคิงเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในกรุงลอนดอนเป็นเวลาถึง 4 คืน ก่อนที่จะเสด็จกลับไปประทับร่วมกับพระราชวงศ์ ณ พระตำหนักแซนดริงแฮมในช่วงเทศกาบคริสต์มาสนี้

ขณะที่ ราชวงศ์อังกฤษยังต้องเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์มาตลอดทั้งปีด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสความไม่พอใจต่อการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลของเจ้าชายเฮนรีและเมแกน ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระราชนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถ

รวมถึงประเด็นที่เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระราชินีนาถ ที่อาจมีส่วนพัวพันกับคดีการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งส่งให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคมอังกฤษ จนกระทั่งดยุกแห่งยอร์กต้องทรงประกาศยุติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์อังกฤษทั้งหมด