“รัฐบาลเยอรมนี” ถูกกดดันรอบด้าน ยกเลิก “แบล็กซีโร่” เพิ่มงบฯรายจ่ายปลุกเศรษฐกิจ

แองเกล่า แมร์เคิล

ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปี 2019 สร้างผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะ “สหภาพยุโรป” (อียู) ที่ธนาคารกลางยุโรปหมดกระสุนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเกิดข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันเพิ่มงบประมาณรายจ่ายและการลงทุนภาครัฐเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เยอรมนีมีแนวทางการดำเนินนโยบายทางการคลังที่เข้มงวด เรียกว่า “แบล็กซีโร่” ซึ่งห้ามรัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงทำให้เกิดแรงกดดันทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้ยกเลิกกฎเหล็กดังกล่าว

“กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (ไอเอ็มเอฟ) เคยออกรายงานประเมินภาวะเศรษฐกิจปี 2019 เรียกร้องให้ทางการเยอรมนีดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของยุโรปมาแล้ว นอกจากนี้ “บีบีซี” ยังรายงานว่า “คริสตีน ลาการ์ด” ประธานคนใหม่ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็เคยกล่าวต่อรัฐสภายุโรป เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ให้รัฐบาลเยอรมันเพิ่มรายจ่ายภาครัฐและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจยุโรปจากภาวะชะลอตัวด้วยเช่นกัน

จากรายงานของ “ฟอร์จูน” นิตยสารด้านธุรกิจชั้นนำระบุว่า “แบล็กซีโร่” ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2009 โดย “วอล์ฟกัง ชอยเบลอ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จาก “พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (ซีดียู)” ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลเยอรมันในปัจจุบัน โดยหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า เป็นนโยบายที่มีเหตุผล เนื่องจากภายหลังวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 ทางการเยอรมนีต้องเข้าอุ้มภาคธุรกิจของประเทศที่มีปัญหา ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงถึง 81.8% ต่อจีดีพี ในปี 2010 ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และในปีนั้นเองที่รัฐบาลขาดดุลงบประมาณถึง 4.2% ของจีดีพี

แต่ภายใต้แนวทางแบล็กซีโร่ รัฐบาลเยอรมันมีสถานะทางการคลังที่แข็งแกร่งมากขึ้นตามลำดับ โดยจัดทำงบประมาณแบบเกินดุลติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2012 และสามารถลดหนี้สาธารณะลงมาอยู่ที่ระดับ 61.9 % ต่อจีดีพี ในปี 2018 กลายเป็นประเทศที่มีสถานะทางการคลังที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป

อย่างไรก็ตาม นโยบายแบล็กซีโร่ซึ่งห้ามการทำงบประมาณขาดดุล รัฐบาลสามารถลงทุนในโครงการที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศด้วยเงินงบประมาณที่เกินดุลเท่านั้น ส่งผลให้เยอรมนีขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จำเป็น

“ดาเนียล สเตลเตอร์” อดีตคณะกรรมการบริหารของ “บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป” บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า รัฐบาลเยอรมันจำเป็นต้องลงทุนประมาณ 120,000 ล้านยูโร เพื่อชดเชยการขาดแคลนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลยังจำเป็นต้องจัดสรรงบฯลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างน้อย 3.2% ของจีดีพี หรือประมาณ 33,000 ล้านยูโรต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้าด้วย

อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปี 2019 ยังสร้างแรงกดดันจากภาคธุรกิจในประเทศให้รัฐบาลพิจารณาเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการคลังที่เข้มงวด โดย “ดีเทอร์ เคมปฟ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมเยอรมนี กล่าวว่า “แบล็กซีโร่เคยมีความจำเป็นสำหรับสร้างสถานะทางการคลังที่แข็งแกร่ง แต่รัฐบาลควรละทิ้งกฎเหล็กดังกล่าว เพื่อเพิ่มรายจ่ายภาครัฐในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในปัจจุบัน”

นอกจากนี้ แรงกดดันต่อนโยบายดังกล่าวมาจากภายในพรรคร่วมรัฐบาลเช่นกัน โดยภายหลังการลงมติเลือกผู้นำของ “พรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสพีดี)” ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีบทบาทสูงเมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลค่อนข้างพลิกความคาดหมาย เมื่อ “นอร์เบิร์ต ไวเตอร์ โบยัน” และ “ซัสเกีย เอสเคิน” ได้รับชัยชนะ โดยทั้งคู่เป็นนักการเมืองปีกซ้ายที่มีความเห็นที่ไม่ตรงกับแนวทางการทำงานของรัฐบาลผสมเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทาง “แบล็กซีโร่” อีกทั้งมีความคิดเห็นที่ชัดเจนว่า ต้องการเพิ่มงบฯรายจ่ายรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งขู่ว่า พรรคเอสพีดีเตรียมถอนตัวออกจากรัฐบาล หากพรรคซีดียูปฏิเสธข้อเสนอเหล่านี้

ทั้งนี้ “รอยเตอร์ส” ได้รายงานถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางพรรคเอสพีดี ผ่านการลงทุนโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการลงทุนสร้างถนน, รางรถไฟและโรงเรียน มูลค่ารวมกว่า 240,000 ล้านยูโร โครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างด้านดิจิทัลอีก 100,000 ล้านยูโร เป็นต้น นับเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับงบประมาณของรัฐบาลในปี 2018 ที่เกินดุลที่ 58,000 ล้านยูโรเท่านั้น โดยการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ พรรคเอสพีดีได้เสนอให้ละทิ้งแนวทางการจัดทำงบประมาณที่เข้มงวด ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ขัดกับแนวทางของทางซีดียูอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ความขัดแย้งในประเด็น “แบล็กซีโร่” ระหว่างพรรคซีดียูและพรรคเอสพีดี อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาลจนถึงขั้นจำเป็นต้องยุบสภาในปี 2020 อย่างไรก็ตาม แรงกดดันต่อรัฐบาลของ “แองเกล่า แมร์เคิล” และพรรคซีดียู ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวสภาวะเศรษฐกิจโลกและเยอรมนีในปี 2020 ด้วยเช่นกัน หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่น่าพอใจอาจพอคลายแรงกดดันลงได้บ้าง