ก้าวย่างของอังกฤษ บนเส้นทาง “ฮาร์ดเบร็กซิต”

Ben Stansall/Pool via REUTERS

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ชัยชนะทางการเมืองของบอริส จอห์นสัน และพรรคอนุรักษนิยม ส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า สหราชอาณาจักร (ยูเค) หรืออังกฤษ ไม่เพียงต้อง “เบร็กซิต” คือ ออกจากการเป็นสมาชิกของ สหภาพยุโรป (อียู) แน่นอนแล้วเท่านั้น ยังเป็นการออกจากการเป็นสมาชิกแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้อีกด้วย

พูดง่าย ๆ ก็คือว่า นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กำลังนำพาอังกฤษก้าวย่างอย่างรวดเร็วบนเส้นทางสู่ “ฮาร์ดเบร็กซิต” ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยืนยันตลอดมาว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะกับอังกฤษเท่านั้น ยังอาจสะเทือนไปทั้งโลกด้วยอีกต่างหาก

ร่างกฎหมายความตกลงเพื่อการถอนตัวจากอียู ซึ่งถูกนำเข้าสู่การพิจารณาวาระที่สองในสภาสามัญเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. แล้วผ่านความเห็นชอบของสภา ซึ่งพรรคอนุรักษนิยมของจอห์นสันครองเสียงข้างมากอยู่สบาย ๆ ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 358 เสียง ไม่เห็นชอบ 234 เสียง สะท้อนถึงรูปธรรมตามความคาดหมายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดจะต้องผ่านขั้นตอนแปรญัตติในวาระสามระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค. ถึงในสภาสามัญแล้วลงมติเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนส่งขึ้นไปสู่สภาขุนนาง (วุฒิสภา) เพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบ

หากทุกอย่างเป็นไปตามคาดหมาย รัฐสภาแห่งยุโรปก็คาดว่าจะให้สัตยาบันรับรองความตกลงนี้ในวันที่ 29 ม.ค. นำอังกฤษไปสู่การพ้นจากการเป็นสมาชิกของอียู “อย่างเป็นทางการ” ได้ในอีก 2 วันต่อมา

สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ จริง ๆ แล้วแทบเป็นไปตามกรอบที่นายกฯจอห์นสันไปทำความตกลงไว้กับอียู ก่อนหน้าการเลือกตั้งเพียงมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตรงที่การกำหนดเงื่อนเวลาที่สำคัญขึ้นมาเท่านั้น

เงื่อนเวลาแรกก็คือ ต้องไม่มีการเลื่อนกำหนดการออกจากอียูให้ล่าช้าออกไปจากวันที่ 31 ม.ค. 2020 อีกแล้ว เงื่อนเวลาที่สองก็คือ กำหนดให้ “ทรานซิชั่นพีเรียด” หรือช่วงทุเลาผลการออกจากอียู จำกัดอยู่เพียงแค่ 31 ธ.ค. 2020 ไม่มีการยืดเยื้อมากเกินไปกว่านั้น

บอริส จอห์นสัน ให้เหตุผลไว้ว่า เพื่อให้เป็นที่แน่ชัดว่าเบร็กซิตจะเกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของประชาชนอังกฤษอย่างแน่นอน จึงกำหนดเส้นตายที่ว่านั้นไว้

หากสภาสูงผ่านร่างนี้ออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ การเลื่อนเงื่อนเวลาของขั้นตอนเบร็กซิตออกไปอีกแม้แต่วันเดียว ก็จะกลายเป็นการกระทำผิดกฎหมายไปในทันที

เส้นตายแรกนั้นพอจะกล้อมแกล้ม คิดได้ว่า เป็นไปเพื่อสนองเจตนาดังกล่าว แต่เงื่อนเวลาที่ 2 ไม่เป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับข้ออ้างของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แต่กลับสะท้อนให้เห็นเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ร่างกฎหมายนี้

“ทรานซิชั่นพีเรียด” หรือ “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” นั้น ถูกออกแบบเอาไว้เพื่อบรรเทาผลกระทบในทางลบของการออกจากการเป็นสมาชิกภาพต่อเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและอียู เป็นทั้งช่วงเวลาที่ยืดหยุ่นไว้ให้สำหรับการเจรจาเพื่อทำความตกลงในรายละเอียดของประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องเจรจากันเพื่อนำมาใช้ทดแทนความตกลงที่มีอยู่แต่เดิม

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการเจรจาตกลงทางการค้าระหว่างกันเสียใหม่ ว่าส่วนใดจะคงเดิมไว้ ส่วนไหนจะเปลี่ยน แล้วจะเปลี่ยนไปอย่างไร

การจำกัดเวลาเพียง 1 ปี ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการเริ่มต้นการเจรจา ส่อเจตนาเป็นสองนัยเท่านั้นก็คือ ฝ่ายที่กำหนดเวลากระชั้นสั้นดังกล่าว มี “ต้นแบบ” ของความตกลงที่กำหนดตายตัวไว้อยู่ก่อนแล้ว เส้นตายดังกล่าวเป็นเสมือนการบีบบังคับกลาย ๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับแบบฉบับความตกลงของตนเอง ไม่ต้องเจรจาต่อรองกันให้มากความ

อีกนัยหนึ่งนั้น เท่ากับเป็นการบ่งบอกกับคู่เจรจาของตนว่า มีเวลาเพียงเท่านี้ จะทำก็ต้องรีบทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่ต้องมีความตกลงทางการค้าใด ๆ กัน

นั่นแทบไม่ต่างอะไรกับ “โนดีลเบร็กซิต” หรือ “ฮาร์ดเบร็กซิต” ที่เคยก่อให้เกิดความกังวลกับผู้คนในแวดวงธุรกิจของทั้งอังกฤษและของสหภาพยุโรปกันมามากมายในอดีตที่ผ่านมา

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป (ยูโรเปี้ยนเคาน์ซิล)คนใหม่ ต้องทวีตข้อความว่า ในการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอังกฤษกับอียูนั้น “การเสมอภาคซึ่งกันและกัน ยังจำเป็นต้องมี”

ไม่เช่นนั้น ความคาดหวังของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ต้องการให้ทุกอย่างแน่นอนที่สุด จะกลายเป็นตัวการก่อให้เกิดความไม่แน่นอน ความโกลาหลขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งได้มากอย่างยิ่ง

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น หากให้รอบด้านและยั่งยืนจริง ๆ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องเป็น 3 ปี หรือ 5 ปีขึ้นไป

ใครที่คิดว่าจะเจรจาต่อรองแล้วเสร็จภายในเวลาไม่ถึงปีนั้น จะมีก็แต่พวกที่ไม่อยากมีข้อตกลงเท่านั้นเอง