จีนเผชิญเงินทุนไหลออก อีกโจทย์สำคัญปี 2020

(AP Photo/Ng Han Guan)

ปี 2019 เป็นปีที่จีนเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ ในประเทศเริ่มส่งสัญญาณออกมา เช่น การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทจีน และวิกฤตภาคอสังหาฯ เป็นต้น

ปัญหาเงินทุนไหลออกนอกประเทศ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทางการจีนแสดงความกังวล โดย “ซีเอ็นเอ็น” รายงานอ้างอิงถึงแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ของ “สำนักบริหารเงินตราต่างประเทศ” ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนที่ทำหน้าที่กำกับและดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระบุว่า “ภารกิจสำคัญในปี 2020 คือ การควบคุมความเสี่ยงภาคการเงิน โดยเฉพาะการป้องกันเงินทุนไหลออกนอกประเทศในระดับที่ “ผิดปกติ” รวมถึงการปราบปรามการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบผิดกฎหมาย”

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลตลาดค่าเงินของจีนเริ่มปราบปรามการ “ลักลอบ” นำเงินทุนออกนอกประเทศผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานดังกล่าวสั่งปรับเงิน “ไชน่าแบงก์” 4.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในข้อหานำเงินออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการสั่งปรับเงินสูงที่สุดเท่าที่เคยสั่งปรับ นอกจากนี้ จีนยังควบคุมเงินทุนที่นำออกนอกประเทศมากขึ้น โดย “เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” รายงานบทสัมภาษณ์ “หยู่ หยงติง” อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารจีนระบุว่า มาตรการควบคุมเงินทุนของจีนมีความ “สุดโต่ง” เกินไป

ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากความขัดแย้งทางการค้าในปี 2019 สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในของจีน ซึ่งส่งผลให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากกรณีธนาคารกลางจีนที่ปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงประมาณ 12% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2018 รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหลายตัว จะยิ่งส่งผลให้นักลงทุนนำเงินออกนอกประเทศมากยิ่งขึ้น โดยถึงแม้จีนจะมีมาตรการควบคุมเงินทุนที่เข้มงวด แต่ยังมีเงินทุนไหลออกนอกประเทศผ่านช่องทางแบบผิดกฎหมาย

ขณะที่รายงานจาก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือไอไอเอฟ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2019 เงินทุนไหลออกนอกประเทศจีนผ่านช่องทางถูกต้องตามกฎหมาย 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ “ไอไอเอฟ” ประเมินว่า เงินที่ไหลออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมายมีจำนวนถึง 131,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขสถิติใหม่ เทียบกับช่วงเวลาที่จีนเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกัน เมื่อปี 2015 และ 2016 ที่มีตัวเลขเฉลี่ยแค่ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ขณะที่ “บลูมเบิร์ก” ประเมินว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2019 เงินทุนไหลออกประเทศจีนอยู่ที่ 226,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 19%

นอกจากนี้ รายงานฉบับเดียวกันของทาง “ซีเอ็นเอ็น” ระบุว่า จีนเคยประสบกับปัญหาการไหลออกของเงินทุนในช่วงปี 2015-2016 ซึ่งธนาคารกลางจีนสูญเสียเงินทุนสำรองกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้จีนจำเป็นต้องประกาศลดค่าเงินหยวนถึง 1.9% ภายในวันเดียว และเพิ่มมาตรการควบคุมเงินทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างกับในอดีต โดยจีนมีหนี้สินในรูปสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2019 จีนมีหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14% ต่อจีดีพี นอกจากนี้ “บลูมเบิร์ก” ยังประมาณการว่า บริษัทย่อยของจีนในต่างประเทศยังมีหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศอีกราว 650,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนี้สินเหล่านี้ 70% ได้รับการการันตีโดยบริษัทแม่ที่ประเทศจีน


ดังนั้น การอ่อนค่าลงของเงินหยวนย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถของการชำระหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศของบริษัทจีน ประกอบกับตัวเลขหนี้สินของบริษัทจีนจำนวนมากและการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ดังนั้นการแก้ปัญหาเงินทุนไหลออก ร่วมกับการดำเนินมาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต