เศรษฐกิจสหรัฐ “สร้างประวัติศาสตร์” โตยาวนานสุด-จบทศวรรษไร้ถดถอย

An American flag flies at half staff in front of a building on Park Avenue on February 15, 2018 in New York following a school shooting in Florida yesterday. - US President Donald Trump delivered a televised address Thursday in the wake of a deadly rampage at a Florida school. Seventeen people were killed when Nikolas Cruz, a 19-year-old former student, entered the Marjory Stoneman Douglas High School and opened fire with an AR-15 rifle as students cowered in closets and under desks. (Photo by TIMOTHY A. CLARY / AFP)

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

มีคำกล่าวในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า “การขยายตัวไม่เคยตายเพราะอายุมาก” ซึ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนว่าการขยายตัวเศรษฐกิจในทศวรรษที่ผ่านมา เป็นจริงตามนั้น เพราะตามข้อมูลของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (NBER) ระบุว่า ณ เดือนธันวาคม 2019 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวติดต่อกัน 126 เดือน ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง เศรษฐกิจสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย (recession) ได้ตลอดทศวรรษเป็นครั้งแรก

มิเชลล์ เมเยอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอริลลินช์ ชี้ว่าไม่ปกตินักที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องนานเช่นนั้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆ ระบุถึงเหตุผลไม่กี่อย่างที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นเวลานาน หนึ่งในนั้นก็คือในทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มต้นด้วยจุดที่ต่ำ การขยายตัวในช่วงดังกล่าวส่วนใหญ่แล้วเป็นการฟื้นตัวจากการถดถอยครั้งใหญ่เมื่อปี 2008 ที่สหรัฐเกิดวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรง

นักเศรษฐศาสตร์บางคนเปรียบเทียบว่า “เมื่อหลุมยิ่งลึก ก็ยิ่งใช้เวลานานในการปีนออกมา” ตัวอย่างเช่น การเติบโตของการจ้างงาน ฟื้นตัวช้ากว่าช่วงเศรษฐกิจบูมครั้งอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงเกิดวิกฤตการเงินอัตราการว่างงานสูงมาก อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วการขยายตัวของเศรษฐกิจเริ่มจะอยู่ได้ยาวนานขึ้นในช่วงหลังสงคราม โดยตามการเก็บข้อมูลของ NBER พบว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1945 ถึง 2009 เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง 58.4 เดือน ขณะที่ปี 1919 ถึง 1945 ขยายตัวติดต่อกันเพียง 35 เดือน เหตุที่การขยายตัวยาวนานขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลหรือผู้วางนโยบายตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อก็ไม่สูง

เดวิล วิลค็อกซ์ อดีตผู้อำนวยการแผนกวิจัยและสถิติของคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางสหรัฐ และยังเคยเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของอดีตประธานเฟดในยุค เบน เบอร์แนงคี และ เจเน็ต เยลเลน ระบุว่า ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของผู้กำหนดนโยบายในช่วงวิกฤตการเงิน อย่างเช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE เป็นส่วนผสมสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่องเป็นเวลานานมาจนถึงปัจจุบัน

ทอร์สเตน สล็อก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ดอยช์แบงก์ ให้ความเห็นว่า มาตรการเชิงรุกของบรรดาผู้วางนโยบาย คือ เหตุผลที่ช่วยอธิบายว่าทำไมเศรษฐกิจสหรัฐจึงฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือญี่ปุ่น “สิ่งสำคัญยิ่งก็คือมาตรการทางการคลังที่ดำเนินการโดยรัฐบาล และมาตรการทางการเงินของธนาคารกลาง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ เป็นแนวคิดที่ออกจากกรอบอย่างรวดเร็ว”

อีกเหตุผลหนึ่งที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ เห็นว่า มีส่วนทำให้เศรษฐกิจเติบโตนาน ก็คือ วิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงในสหรัฐยังเป็นความทรงจำที่สดใหม่สำหรับผู้บริโภค และธุรกิจอเมริกัน ทำให้พวกเขากลัวความเสี่ยงและตื่นตัวอยู่เสมอ เพื่อระวังเศรษฐกิจทรุดในครั้งต่อไป ด้วยเหตุนั้น อเมริกาในภาพรวมจึงไม่มีปัญหาการก่อสร้างมากเกินไป ไม่กู้ยืมมากเกินไป

ความระมัดระวังของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ลดความไม่สมดุลในระบบการเงินลง ช่วยให้การฟื้นตัวดำเนินต่อไปด้วยระยะเวลาที่ยาวขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจเติบโตอ่อนแอลงกว่าเดิม เมื่อเทียบกับช่วงการบูมของเศรษฐกิจครั้งอื่น ๆ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือแม้ในทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้เติบโตแข็งแกร่งที่สุดในแง่ของจีดีพี พูดให้เห็นภาพก็คือทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐเป็นแชมป์ด้านความต่อเนื่องของการขยายตัว แต่ไม่ได้เป็นแชมป์ด้านอัตราการเติบโต

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้การขยายตัวตกรางได้เช่นกัน นั่นก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ จะกระตุ้นการก่อหนี้สูง นอกจากนี้ยังมีปัญหาความไม่แน่นอนทางการค้าและการเมือง ตลอดจนเศรษฐกิจนอกประเทศอ่อนแอ แต่ก็หวังว่าตราบเท่าที่ผู้วางนโยบายมีความตื่นตัวอยู่เสมอ เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกจนทุบสถิติเดิม

จอช ไบเวนส์ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายเศรษฐกิจ ระบุว่า เศรษฐกิจถดถอยมักเกิดจากความผิดพลาดด้านนโยบาย เราจะสามารถรักษาการฟื้นตัวไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานาน ถ้ามีนโยบายที่ฉลาดและระมัดระวังอย่างแท้จริง