ถอดบทเรียน วิกฤต “ละตินอเมริกา” ติดกับดัก “ประชานิยม”

REUTERS/Ueslei Marcelino

ปี 2019 “ละตินอเมริกา” เผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก “ไฟแนนเชียลไทมส์” รายงานว่า ปัญหาของละตินอเมริกาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุด “วัฏจักรการเติบโตของสินค้าโภคภัณฑ์” ทั้งน้ำมัน ทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าเกษตร ซึ่งแม้จะได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่หลายประเทศกลับขาดการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเสพติดนโยบาย “ประชานิยม” ซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และอีกหลายประเทศ

บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ “แมคคินซีย์” ระบุว่า ช่วงปี 2000-2016 ละตินอเมริกามีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 2.8% ต่อปี ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของละตินอเมริกามาจาก “วัฏจักรการเติบโตของราคาสินค้าโภคภัณฑ์” ซึ่งมีความเปราะบางมาก

อย่างไรก็ตาม ในการลดความยากจนนับว่าประสบความสำเร็จในแง่ของตัวเลข โดยนับตั้งแต่ปี 2000 ชาวละตินอเมริกากว่า 56 ล้านคน หลุดพ้นความยากจน โดยมีรายได้มากกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ทำให้สัดส่วนของคนยากจนลดลงจาก 27% เป็น 13% อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของรายได้มีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงนโยบายประชานิยม เช่น การอุดหนุนราคาสินค้าในชีวิตประจำวัน รวมถึงการแจกเงินประชาชน

นอกจากนี้พบว่าประชากรประมาณ 152 ล้านคน หรือราว 30% ยังมีรายได้เพียง 5-11 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งรายงานระบุว่า เป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะกลับเข้าสู่ความยากจน เมื่อรัฐบาลลดการอุดหนุนราคาสินค้า จึงกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก

การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ทั้งการยึดสินทรัพย์ของเอกชนมาเป็นของรัฐบาล ขณะที่บางประเทศมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจแต่ผลประโยชน์ตกอยู่ในมือของนายทุนเพียงแค่ไม่กี่คน สร้างระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดขึ้นมา โดยพบว่าบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในละตินอเมริกาผูกขาดอยู่กับธุรกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณูปโภค ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อสร้างความนิยมจากประชาชน และรักษาฐานอำนาจ กลับยิ่งสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันตลาดเสรี

รายงานยังระบุอีกว่า บรรยากาศทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีจำนวนบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งกับความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้จากการผูกขาดตลาด ทำให้แรงงานจำนวนมากทำงานอยู่ในบริษัทขนาดเล็กที่ประสิทธิภาพต่ำ และส่วนใหญ่จัดตั้งอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเพิ่มรายได้ของประชาชนอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงพบว่าประชากรจากฐานล่างของพีระมิด 90% มีสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศเพียง 64% ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก

ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีปัญหาส่งผลให้หลายประเทศเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ, ปัญหาเงินเฟ้อ, การขาดดุลชำระเงิน ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดดุลการค้าและเงินทุนไหลออก, การขาดดุลงบประมาณซึ่งทำให้เกิดหนี้สาธารณะมหาศาลในรูปสกุลเงินต่างประเทศ และในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยิ่งส่งผลให้ปัญหาเหล่านี้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ทำให้หลายประเทศต้องขอความช่วยเหลือจาก “ไอเอ็มเอฟ” ซึ่งตั้งเงื่อนไขว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทำนโยบายรัดเข็มขัด

ทั้งนี้ การลดรายจ่ายรัฐบาลย่อมกระทบกับนโยบายประชานิยมในหลายประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชน โดย อัลจาซีรา รายงานว่า ประชาชนใน “เอกวาดอร์” ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล จากสาเหตุการยุติการอุดหนุนราคาน้ำมัน รวมถึงในอีกหลายประเทศที่เผชิญกับปัญหาลักษณะเดียวกัน ขณะที่มาตรการรัดเข็มขัดใน “อาร์เจนตินา” ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง นำไปสู่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาล “เฟอร์นานเดซ” ซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย โดยภายหลังเข้าสู่อำนาจ รัฐบาลดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับภาคธุรกิจ

รอยเตอร์ส รายงานเมื่อ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า “มาร์ติน กุซแมน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจอาร์เจนตินา ประกาศเสนอกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดเวอร์ชั่น”เอียงซ้าย” เข้าสู่สภา โดยการเก็บภาษีภาคธุรกิจเพิ่ม เช่น ภาษีแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพิ่ม 30% ภาษีสินค้าส่งออกซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรเพิ่ม 3% โดยกฎหมายฉบับนี้ได้รับอนุมัติจากวุฒิสภาอาร์เจนตินา เมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา เปรียบเสมือน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ” ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

กฎหมายดังกล่าวเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อในการทำธุรกิจและการแข่งขัน ซึ่งเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของวิกฤตที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าติดตามว่า ปี 2020 รัฐบาลอาร์เจนตินาอาจออกมาตรการที่กระทบกับภาคธุรกิจอีก ขณะที่มาตรการรัดเข็มขัดในอีกหลายประเทศด้วยการลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ละตินอเมริกาติดกับดักทางเศรษฐกิจที่ยากจะหาทางออกได้