ไฟป่า “ออสเตรเลีย” ยังหนัก เร่งอพยพหนี “คลื่นความร้อน” ระลอกใหม่ 10 ม.ค.นี้

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการของ “ออสเตรเลีย” ได้ออกแถลงการณ์ในวันนี้ (8 ม.ค.) ให้พลเมืองเตรียมการอพยพ เพื่อหลีกเลี่ยง “คลื่นความร้อน” ที่จะแผ่ปกคลุมออสเตรเลียอีกครั้งวันศุกร์ที่ 10 ม.ค. นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ “สถานการณ์ไฟป่า” กลับมารุนแรงมากขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองซึ่งช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ไฟป่า และทำให้อุณหภูมิโดยรวมลดลงในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางการออสเตรเลียได้ระบุให้ พลเมืองใน “รัฐวิกตอเรีย” เร่งอพยพก่อนที่คลื่นความร้อนจะแผ่ปกคลุมอีกครั้ง ส่วนเจ้าหน้าที่ของ “รัฐเซาท์ออสเตรเลีย” ก็ได้เริ่มอพยพผู้คนจากชุมชนบนเกาะจิงโจ้ ทางตอนใต้ของออสเตรเลียแล้วเช่นกัน

สถานการณ์ไฟป่ายังได้สร้างความเสียหายและทำลายที่อยู่อาศัยในแถบชนบทของออสเตรเลียเป็นวงกว้าง ทั้งยังสร้างมลพิษทางอากาศจากควันไฟที่ฟุ้งกระจายไปไกลถึงประเทศบราซิล โดยบีบีซีรายงานว่า หมอกควันไฟยังหนาปกคลุมสภาพอากกาศในหลายเมืองของออสเตรเลีย อย่าง “เมืองเมลเบิร์น” และเมืองข้างเคียงที่หมอกควันปกคลุมหนา ทำให้มีระยะการมองเห็นไม่ถึง 1 กม. ในหลายพื้นที่ของเมือง

ทั้งนี้ สถานการณ์ไฟป่าของออสเตรเลียเกิดขึ้นจากความแห้งแล้งของป่าที่เสื่อมโทรมลง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ฤดูไฟป่าของออสเตรเลียจะรุนแรงและยาวนานมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ไฟป่าครั้งนี้ของออสเตรเลียได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. 2019 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 26 ราย และทำลายที่พักอาศัยไปแล้วกว่า 2,000 หลัง

นอกจากนี้ ไฟป่ายังได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เป็นวงกว้างราว 80,000 ตร.กม. โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ประมาณการว่า มีสัตว์ป่าล้มตายแล้วกว่าพันล้านตัว ขณะที่สภาประกันภัยของออสเตรเลียเปิดเผยว่า มีการเรียกร้องเงินค่าชดเชยความเสียหายมากเกือบ 9,000 ราย คิดเป็นมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และยังคาดว่าจำนวนคำร้องจะเพิ่มขึ้นอีก

แม้ว่าออสเตรเลียจะเคยเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2019 โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงสุดถึง 41.9 องศาเซลเซียส แต่ไม่ได้เกิดสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงเป็นวงกว้างเช่นนี้มาก่อน ทำให้มีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากต่างร่วมระดมเงินและออกแคมเปญช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งรัฐบาลออสเตรเลียก็ได้จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อเป็นกองทุนสำหรับช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับความเสียหายแล้ว 2,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย