วิกฤตตะวันออกกลาง ปัจจัยใหม่คุกคาม เศรษฐกิจโลก

(AP Photo/Lefteris Pitarakis)

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นพรวดพราดกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หลังจาก พลตรีคัสเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ในสังกัดกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามอิหร่าน (ไออาร์จีซี) อันเลื่องลือถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา

ตอนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกมาแถลงยืนยันว่าเป็นผู้ออกคำสั่งสังหารดังกล่าวด้วยตนเอง ทำให้โอกาสที่ความขัดแย้งซึ่งคุกรุ่นมาตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา สามารถลุกลามขยายตัวออกไปได้อย่างไร้ขีดจำกัดเกิดเป็นความจริงขึ้นมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งพรวดสูงขึ้นรวดเดียวเกือบ 4%

ในชั่วระยะเวลาเพียงข้ามคืน สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลางก็กลายเป็นปัจจัยลบที่คาดเดาผลลงเอยและประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ยากเย็นอย่างยิ่งปัจจัยใหม่ต่อท้ายอีกหลายต่อหลายปัจจัยสำคัญที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า

จนถึงขณะนี้นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญกิจการตะวันออกกลางทั้งหลาย ยังคงเชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามเต็มรูปอย่างเปิดเผยและรุนแรงระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านนั้นยังไม่น่าจะเป็นไปได้

แต่ในเวลาเดียวกัน ทุกคนก็เชื่อมั่นว่า พิจารณาจากความสำคัญของคนอย่างนายพลคัสเซมในสายตาของรัฐบาลอิหร่าน การโจมตีเพื่อแก้เผ็ดตอบโต้ปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ต้องมีขึ้นแน่ในอีกไม่ช้าไม่นาน ขึ้นอยู่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดเท่านั้นเอง

เอียน เชปเพิร์ดสัน หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำ แพนเธออน แมโครอีโคโนมิกส์ บริษัทที่ปรึกษาในสหราชอาณาจักร ระบุว่า การตอบโต้ของอิหร่านก่อให้เกิดปัญหาสำคัญที่สุด เนื่องเพราะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบโลกนั่นเอง

ในทางหนึ่งนั้น การปะทุของความรุนแรงในครั้งนี้ ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานในการผลิตน้ำมันแทบทั้งหมดในภูมิภาคตะวันออกกลางกลายเป็น “เป้าหมายชั้นดี” ในการโจมตีเพื่อตอบโต้และล้างแค้นต่อสหรัฐอเมริกา

ในอีกทางหนึ่งนั้น ช่องแคบฮอร์มุซที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ในฐานะเป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างอ่าวเปอร์เซียด้านในกับอ่าวโอมาน เป็นการออกสู่ทะเลเปิด และเป็นทางออกมหาสมุทรทางเดียวของหลายประเทศที่ส่งน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลก ประเมินกันว่า น้ำมันดิบระหว่าง 20-25% ของน้ำมันดิบในตลาดโลก จำเป็นต้องผ่านช่องแคบแห่งนี้

เรือบรรทุกน้ำมันทุกลำที่แล่นผ่านช่องแคบฮอร์มุซ จำเป็นต้องแล่นเรือผ่านร่องน้ำในน่านน้ำอาณาเขตทั้งของประเทศโอมานและอิหร่าน

นั่นหมายความว่า หากอิหร่านประกาศปิดน่านน้ำในบริเวณนั้นเมื่อใดจะเกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจโลกขึ้ตามมาทันที

แม้แต่ยังไม่ถึงขนาดปิดน่านน้ำ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านก็สามารถก่อให้เกิดปัญหากับการเดินเรือพาณิชย์ โดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมันในบริเวณดังกล่าวได้ เหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำถูกโจมตีด้วยระเบิดเมื่อราวกลางเดือน มิ.ย.ปีที่แล้วที่ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งสหรัฐอเมริกากล่าวหาอิหร่านว่าเป็นผู้ลงมือ ในขณะที่อิหร่านยืนกรานปฏิเสธ ตอบโต้ว่าเป็นการลอบโจมตีเพื่อใส่ร้ายอิหร่านของสหรัฐอเมริกา

หรือในเดือน ก.ค.ถัดมา ซึ่งเกิดกรณีที่เรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำ ลำหนึ่งชักธงสัญชาติอังกฤษ อีกลำชักธงสัญชาติไลบีเรีย ถูกกองกำลังอิหร่านบุกยึดเพื่อตอบโต้การยึดเรือบรรทุกน้ำมันอิหร่านที่กำลังมุ่งหน้าไปซีเรียไว้ที่ยิบรอลตาไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

แต่อุทาหรณ์ที่ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์กันเอาไว้ ก็คือ เหตุการณ์ซึ่งกองกำลังติดอาวุธกลุ่มฮูทีซึ่งอิหร่านหนุนหลังในเยเมน ใช้โดรนโจมตีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกที่อับกออิกกับที่คูราอิสเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้วเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียต้องหยุดการผลิตน้ำมันของตนไปราวครึ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานาน และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกกระโจนพรวดขึ้นถึงระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1988 มาแล้ว

โลกบริโภคน้ำมันอยู่ราว 100 ล้านบาร์เรล/วัน นั่นหมายความว่า ทุก ๆ 5 ดอลลาร์สหรัฐที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจะส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องดึงเงินมาใช้เพื่อซื้อน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่า 183,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลา 1 ปี หรือเทียบเท่ากับ 0.1% ของมูลค่าเศรษฐกิจของทั้งโลกนั่นเอง

กระนั้น สำหรับเชปเพิร์ดสันข้อที่ชวนวิตกในเวลานี้ ก็คือ ถ้าหากอิหร่านเกิดตัดสินใจตอบโต้ด้วยการกระทำที่รุนแรงกว่าที่ทุกคนคาดหมายกันเอาไว้ ความเสี่ยงที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นตามมา