ขาใหญ่ร่วมชิงไลเซนส์ “ดิจิทัลแบงกิ้ง” สิงคโปร์ หวังปักหมุดอาเซียน

REUTERS/Woo Yiming

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการธนาคาร ทั้งนี้ “สิงคโปร์” ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินและธนาคารของโลก จึงเริ่มปรับตัวเพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลง โดย “ธนาคารกลางสิงคโปร์” หรือ “เอ็มเอเอส” ได้ประกาศเตรียมออกใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจ “ดิจิทัลแบงกิ้ง” จำนวน 5 ใบ เมื่อปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกคาดว่าจะเสร็จสิ้นกลางปีนี้ และบริษัทที่ได้รับคัดเลือกจะเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2021

การเปิดเสรีให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมในการขอใบอนุญาต “ดิจิทัลแบงกิ้ง” เป็นการยกระดับการเปิดเสรีภาคธนาคารของสิงคโปร์ไปอีกขั้น “บลูมเบิร์ก” รายงานว่า มีธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจ เช่น “วีทรี กรุ๊ป” บริษัทผู้ผลิตเก้าอี้ และ “ฟาร์ อีสต์” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น รวมทั้งยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างอาลีบาบา, เรเซอร์ และแกร็บ ต่างเข้าร่วมชิงชัยในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ภาคการเงินและธนาคารของสิงคโปร์ค่อนข้างเปิดกว้างและแข่งขันสูง ดังนั้นการขับเคี่ยวทางธุรกิจจึงเป็นความท้าทายของผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะผู้เล่นนอกวงการธนาคารที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมผ่านดิจิทัลแบงกิ้ง

โดย “บิสซิเนสไทมส์” รายงานผลงานวิจัยของ “ซีบีเอส-ซีไอเอ็มบี” ซึ่งคาดการณ์ว่าดิจิทัลแบงก์รายใหม่จะสามารถแย่งส่วนแบ่งเงินฝากจากธนาคารหลักในสิงคโปร์เพียงแค่ 4-11% เท่านั้น และสามารถแย่งส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการบัตรเครดิตประมาณ 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สอดคล้องกับทาง “เจฟเฟอร์รีย์ กรุ๊ป” บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินแบบครบวงจร ซึ่งมองว่าภาคธนาคารสิงคโปร์มีการปรับตัวอย่างมากเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ดังนั้นการเข้ามาของดิจิทัลแบงก์รายใหม่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารเพียง 3-5% ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น

นอกจากการแข่งขันที่รุนแรงในภาคธนาคารสิงคโปร์แล้ว ธนาคารกลางของสิงคโปร์ยังมีกฎข้อบังคับที่เข้มงวดสำหรับควบคุมดิจิทัลแบงก์รายใหม่อีกด้วย โดยเอ็มเอเอสมีข้อกำหนดห้ามดิจิทัลแบงก์ใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อขจัดคู่แข่งขัน (predatory pricing) ดังนั้นการกำหนดราคาที่ต่ำกว่าตลาดอย่างมีนัยเพื่อแย่งมาร์เก็ตแชร์ จึงเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้

รวมถึงการให้ใบอนุญาตดังกล่าว เอ็มเอเอสจะพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไรของดิจิทัลแบงก์เป็นสำคัญด้วย โดยผู้ยื่นขอใบอนุญาตต้องเสนอแผนการเงินในช่วง 5 ปีแรก การกำหนดราคาค่าบริการที่ต่ำกว่าตลาดอาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรได้ อีกทั้งยังกำหนดเงินทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับเงื่อนไขของประเทศศูนย์กลางการเงินอื่น ๆ เช่น ฮ่องกง และลอนดอน

“สเตรตไทมส์” รายงานว่า สิงคโปร์กำหนดเงินทุนเริ่มต้นสำหรับดิจิทัลแบงก์แบบครบวงจรถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดิจิทัลแบงก์เฉพาะลูกค้าภาคธุรกิจ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ฮ่องกงกำหนดเงินทุนขั้นต่ำประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลอนดอนกำหนดเพียง 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

แม้ว่าดิจิทัลแบงก์รายใหม่ ๆ อาจไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดธนาคารสิงคโปร์อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเผชิญกฎระเบียบที่เข้มงวด แต่หากมองภาพรวมตลาดดิจิทัลแบงกิ้งในอาเซียนนับว่ามีศักยภาพ โดยงานวิจัยร่วมระหว่าง “เบน คอนซัลติ้ง” “กูเกิล” และ “เทมาเส็ก” ระบุว่า รายได้การให้บริการดิจิทัลแบงกิ้งในอาเซียนมีโอกาสเติบโตจาก 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 ขณะที่สินเชื่อออนไลน์จะเติบโตจาก 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของภาคธนาคารในอนาคต

นอกจากนี้ งานวิจัยยังระบุว่า “ดิจิทัลแบงกิ้ง” สามารถเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรในภูมิภาค โดยปัจจุบันประชากรวัยทำงานในภูมิภาคกว่า 198 ล้านคน และธุรกิจเอสเอ็มอีอีก 64 ล้านแห่ง ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินกระแสหลักได้ในระดับที่เพียงพอ และยังมีประชากรอีกประมาณ 98 ล้านคน ยังไม่มีบัญชีเงินฝาก และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางเงิน

อีกทั้งอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตจาก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมถึงการเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัลในภูมิภาค โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นราว 100 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปี ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต

ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประตูทางธุรกิจที่สำคัญสู่อาเซียน จึงกล่าวได้ว่าการรุกตลาดดิจิทัลแบงกิ้งในสิงคโปร์ นอกจากจะเปิดตลาดดิจิทัลแบงกิ้งของอาเซียนซึ่งมีศักยภาพสูงแล้ว ยังช่วยต่อยอดธุรกิจดิจิทัลอื่น ๆ อีกด้วย