ประวัติศาสตร์ชี้ชัด “น้ำมันพุ่ง” มาพร้อมกับเศรษฐกิจมะกัน “ถดถอย”

FILE PHOTO: An oil well is seen near Denver, Colorado February 2, 2015. REUTERS/Rick Wilking/File Photo

โดย นงนุช สิงหเดชะ

ราคาน้ำมันซึ่งอยู่ระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ถูกปลุกให้พุ่งทะยานอีกครั้ง ภายหลังจากสหรัฐใช้โดรนติดอาวุธสังหาร พลตรี คาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ของอิหร่าน เสียชีวิตขณะไปเยือนอิรัก เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่านายพลอิหร่านผู้นี้ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญเบอร์ 2 รองจาก อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยู่เบื้องหลังการฆ่าพลเรือนและทหารอเมริกันหลายครั้ง

ความขัดแย้งดังกล่าวซึ่งมีความเสี่ยงจะบานปลายจนนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเรื่องปริมาณและราคาน้ำมันที่จะกระทบต่อตลาดโลก หากสงครามขยายพื้นที่ทั่วตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันใหญ่ พร้อมกันนั้น นักวิเคราะห์เริ่มมีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีตเกี่ยวกับราคาน้ำมันเข้ากับการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ 3 ครั้งที่ผ่าน เกิดขึ้นหลังจากราคาน้ำพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง

การพุ่งขึ้นของน้ำมันทั้ง 3 ครั้งในอดีต จนนำไปสู่เศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ ครั้งแรก ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ค.ศ. 1990 ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 135% ทำให้ครั้งนั้นเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยไปจนถึงปี 1991 ครั้งที่ 2 ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัวระหว่างปี 1999 ถึง 2000 เป็นเหตุให้เศรษฐกิจถดถอยในปี 2001 และครั้งที่ 3 ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นกว่า 96% จากจุดต่ำสุดในปี 2007 ไปจนถึงต้นปี 2008 และต่อมาไม่นาน เศรษฐกิจก็ถดถอย

เรย์มอนด์ เจมส์ นักกลยุทธ์พลังงานของปาเวล มอลคานอฟ ระบุว่า แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบทันทีต่อปริมาณน้ำมัน แต่โดยธรรมชาติแล้ว เหตุการณ์ลักษณะนี้เพิ่มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จนทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น

ดังนั้นจำเป็นต้องจับตาการตอบโต้ของอิหร่านว่าจะนำไปสู่การทำให้อุปทานน้ำมันเกิดการชะงักงันหรือไม่

พอล ฮิกกี้ ผู้ก่อตั้งบีสโปก อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป ชี้ว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งอยู่ในภาวะกระทิงตกรางก็คือ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันที่นำไปสู่เศรษฐกิจถดถอย แต่ ณ ปัจจุบัน ราคาน้ำมันยังไม่ถือเป็นปัญหาสำหรับตลาดหุ้น แต่จะเป็นปัญหาเมื่อราคาน้ำมันดิบเวสต์ เทกซัส อินเตอร์มีเดียต (WTI) ของสหรัฐ พุ่งแรงไปแตะ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นิโคลัส โคลัส ผู้ก่อตั้งดาต้าเทร็ก รีเสิร์ช ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันดิบยังต้องไต่ขึ้นอีกมาก จนกว่าจะถึงจุดที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย หากเมื่อใดก็ตาม ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 90% ขึ้นไป เป็นเวลา 10-12 เดือน เมื่อนั้นเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย ดังนั้น นักลงทุนควรจับตาดูราคาน้ำมันอย่างระวัง ไม่ควรพอใจราคาที่เป็นอยู่ เพราะหากราคาเดินหน้าสู่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อไหร่ มีปัญหาแน่

หลังการสังหารนายพลอิหร่านเมื่อวันที่ 3 มกราคม ราคาน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐ ปรับขึ้นสูงสุด 4.8% ก่อนจะอ่อนตัวลงมาปิดตลาดที่ 63.18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือปรับขึ้น 3.3% จากราคาปิดของวันก่อนหน้า และหากเทียบกับจุดต่ำสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ปรับขึ้น20% ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนต์ ซึ่งเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงระหว่างประเทศ ปรับขึ้น3.5% โดยช่วงหนึ่งราคาพุ่งไปแตะ 69.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 มกราคม หลังจากอิหร่านยิงจรวดสิบกว่าลูกถล่มฐานทัพสหรัฐในอิรัก ราคาน้ำมัน WTI ปรับขึ้น 2.85 ดอลลาร์ หรือ 4.5% โดยช่วงหนึ่งขึ้นไปแตะ 65.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับจากเดือนเมษายนปีที่แล้ว ก่อนจะอ่อนตัวเล็กน้อยมาปิดตลาดที่ 64.11 ดอลลาร์

ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์เพิ่มขึ้นกว่า 4% เช่นกัน โดยช่วงหนึ่งราคาขึ้นไปแตะ 71.75 ดอลลาร์ สูงสุดนับจากเดือนกันยายนปีที่แล้ว ก่อนจะอ่อนตัวลงมาปิดตลาดที่ 69.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ของตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงกว่า 400 จุด ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าการตอบโต้ของอิหร่านจะผลักให้ WTI ขึ้นไปแตะ 70 ดอลลาร์ได้ไม่ยาก

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ความตึงเครียดในตะวันออกกลางจะไม่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งมากเหมือนครั้งก่อน ๆ เพราะในทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐประสบความสำเร็จในการเจาะน้ำมันในชั้นหินดินดาน (shale oil) มาใช้เอง จนกลายเป็นผู้ผลิตระดับท็อปของโลก สามารถผลิตน้ำมันได้วันละ 12.9 ล้านบาร์เรล