ชิงธง “เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช” แมคโดนัลด์จ่อปูพรมทั่วสหรัฐ

Photo by Geoff Robins / AFP
เนื้อสัตว์จากพืช” หรือ “แพลนต์เบส”(plant-based) เป็นที่นิยมมากขึ้นในปี 2020 หลังจากที่มีการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ไม่ต้องการรับประทานเนื้อสัตว์ ทั้งผู้ที่รักษ์สุขภาพและผู้ที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมที่มองว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในปัจจุบันสร้างมลพิษต่อโลกอย่างมหาศาล

ความนิยมดังกล่าวทำให้เชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่อย่าง “แมคโดนัลด์” และ “เบอร์เกอร์คิง” จับมือกับผู้ผลิตเนื้อสัตว์แพลนต์เบส หาลู่ทางการผลิตและจำหน่ายอาหารฟาสต์ฟู้ดจากวัตถุดิบเนื้อสัตว์จากพืช ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากอย่าง “เบอร์เกอร์” ทำให้ปีนี้การแข่งขันของธุรกิจคึกคักมากขึ้น

โดย “รอยเตอร์ส” รายงานว่า แมคโดนัลด์ประกาศทดลองวางจำหน่าย “พี.แอล.ที. เบอร์เกอร์” (P.L.T. burger) ซึ่งเป็นเบอร์เกอร์ที่ผลิตจากเนื้อสัตว์แพลนต์เบสของ “บียอนด์มีต” ในร้านแมคโดนัลด์ 52 แห่งทั่วแคนาดา เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 14 ม.ค.นี้ จากก่อนหน้านี้ที่เคยทดลองวางจำหน่ายในร้าน 28 แห่งในแคนาดา ในช่วงเดือน ก.ย. 2019

ผลตอบรับจากผู้บริโภคในการทดลองวางจำหน่ายครั้งนี้ จะถูกนำไปประเมินความเป็นไปได้ที่แมคโดนัลด์จะจัดจำหน่ายในร้าน 14,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งธนาคาร “ยูบีเอส” ประเมินว่า หากแมคโดนัลด์วางจำหน่ายทั่วในสหรัฐ จะสามารถขาย พี.แอล.ที.เบอร์เกอร์ ได้มากกว่า 250 ล้านชิ้น/ปี

“ชัก มุท” ซีอีโอของบียอนด์มีต ระบุว่า ความร่วมมือของบริษัทกับแมคโดนัลด์กำลังเป็นไปได้ดี ซึ่งบียอนด์มีตพร้อมจะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในสหรัฐ โดยมีแผนเตรียมจะวางจำหน่ายในเอเชียภายในสิ้นปี 2020 ด้วย

ขณะที่ “อิมพอสซิเบิลฟูดส์” (Impossible Foods) ผู้ผลิตเนื้อสัตว์แพลนต์เบสคู่แข่งระบุว่า บริษัทได้ยุติการเจรจาเพื่อเป็นผู้จัดหาเนื้อสัตว์เทียมให้กับแมคโดนัลด์แล้ว ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคแมคโดนัลด์

“แพท บราวน์” ซีอีโอของอิมพอสซิเบิลฟู้ดส์ระบุว่า “การมีลูกค้ารายใหญ่ในขณะนี้ไม่ส่งผลดีต่อเรา จนกว่าเราจะสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม อิมพอสซิเบิลฟูดส์ระบุว่า จะเดินหน้าร่วมมือกับ “เบอร์เกอร์คิง”ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2019 ในการผลิต “อิมพอสซิเบิล วอปเปอร์” ซึ่งเป็นเบอร์เกอร์แพลนต์เบส โดยจะเพิ่มการผลิตเป็นสองเท่า และยังจะทดลองจำหน่ายไส้กรอกแพลนต์เบสในร้านเบอร์เกอร์คิง 139 แห่งภายในปลายเดือน ม.ค.นี้อีกด้วย บราวน์ระบุว่า “ผมหวังว่าเราจะมีความสามารถในการผลิตมากกว่าที่เรามีในขณะนี้ เพราะความต้องการของตลาดสูงมาก”

อย่างไรก็ตาม ยังมีร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอีกหลายราย อย่าง ยัม ! แบรนด์ส (Yum ! Brands) เคเอฟซี (KFC) และดังกิ้น แบรนด์ส (Dunkin” Brands) ที่เริ่มเปิดตัวเมนูอาหารเนื้อสัตว์จากพืชด้วยรวมถึงเชนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต่างเปิดตัวเนื้อสัตว์แพลนต์เบสด้วย อย่าง “โครเกอร์”(Kroger) ก็ได้เริ่มวางจำหน่ายเนื้อสัตว์แพลนต์เบสสำหรับเบอร์เกอร์ของตนเอง ในแบรนด์ “ซิมเพิล ทรูธ” ในร้านค้าทั่วสหรัฐ ในราคาราว 4.99 ดอลลาร์สหรัฐ/แพ็ก 2 ชิ้น ซึ่งราคาถูกกว่าบียอนด์มีตที่จำหน่ายในราคา 5.99 ดอลลาร์สหรัฐ/แพ็ก 2 ชิ้น

นอกจากนี้ “อัลดี้” (Aldi) ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติเยอรมันในสหรัฐ ยังจำหน่ายลูกชิ้นและเนื้อไก่แพลนต์เบสในราคาราว 3-4 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และยังมีแผนเปิดตัวไส้กรอกเนื้อเทียมอีกด้วย โดยอัลดี้ระบุว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 300% ในปี 2019

ทั้งนี้ ชาวอเมริกันใช้จ่ายไปกับอาหารฟาสต์ฟู้ดคนละราว 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ดังนั้นการร่วมมือเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับเชนร้านฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ ถือว่าเป็นโอกาสในการทำรายได้มหาศาลให้ผู้ผลิตแพลนต์เบส โดย “บาร์เคลย์ส” วาณิชธนกิจของอังกฤษประมาณการว่า ตลาดเนื้อสัตว์ทางเลือกจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 10 ปีข้างหน้า