จีน-สหรัฐยิ้มแฉ่งลงนาม “ข้อตกลงการค้าเฟสแรก” ลดร้อนแรง “สงครามการค้า”

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สหรัฐอเมริกาและจีนได้ลงนามใน “ข้อตกลงการค้าระยะที่ 1” เมื่อวานนี้ (15 ม.ค.) ตามกำหนดการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศก่อนหน้านี้ โดยรายละเอียดข้อตกลงเป็นความพยายามในการผ่อนคลายความตึงเครียดของ “สงครามการค้า” ระหว่าง 2 ประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวระหว่างการลงนามว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยให้พลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ “หลิว เหอ” รองนายกรัฐมนตรีของจีนที่เดินทางมาเป็นตัวแทนของจีนในการลงนามครั้งนี้ที่ทำเนีบยขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐ ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ อีกทั้ง ข้อตกลงนี้ยังมีรากฐานมาจาก “ความเสมอภาคและความเคารพซึ่งกันและกัน” และเป็นการปกป้องระบบการเมืองและรูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน ที่ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมต่อความเป็นจริงของจีนเอง

สำหรับรายละเอียดของข้อตกลงระยะแรกนั้น จีนให้สัญญาว่าจะนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐมูลค่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าอุตสาหกรรม 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าพลังงาน 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาคบริการ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐต่อจีนมากขึ้น

นอกจากนี้ จีนยังจะออกกฎและใช้มาตรการมากขึ้นเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่บริษัทต่างชาติ ในการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายต่อการละเมิดทรัพย์สินค้าทางปัญญาในจีนอีกด้วย

ส่วนมาตรการทางภาษีที่ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างใช้ตอบโต้กันไปมามีการปรับลดบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ยังคงไว้เช่นเดิม โดยสหรัฐจะยังคงรักษาอัตราภาษีศุลกากรที่ 25% ของสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมราว 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีการปรับลดภาษีบางส่วนลงครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับจีนที่จะยังคงภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

ซึ่งการเจรจาด้านภาษีที่ไม่มีความคืบหน้ามากนัก ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำนวนมากเรียกร้องให้มีการเจรจาเพิ่มเติม “เจเรมี วอเตอร์แมน” ประธานศูนย์จีนของหอการค้าสหรัฐ ระบุว่า “ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมาย พวกเขาอาจมีความสุขในวันนี้ แต่ต้องไม่รอนานจนเกินไปในการกลับไปที่โต๊ะเจรจาระยะที่สอง”