ผู้หญิงญี่ปุ่น ยิ่งโสด ยิ่งเสี่ยง ! รายได้ไม่พอหลังเกษียณ

(Photo by Christophe SIMON / AFP)

ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างประชากร ซึ่งส่งผลต่อความเพียงพอของเงินบำนาญวัยเกษียณ โดย บลูมเบิร์ก รายงานว่า คู่สามีภรรยาวัยเกษียณชาวญี่ปุ่นต้องการรายได้นอกเหนือจากเงินบำนาญเพิ่มอีก 185,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ขณะที่ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศยิ่งส่งผลให้สุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นได้รับผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนโอกาสการสร้างรายได้ที่เพียงพอสำหรับการออมเงินหลังเกษียณ

ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างอิงข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ว่า ในปี 2019 ญี่ปุ่นมีตัวเลขเด็กเกิดใหม่เพียง 864,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1899 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่อายุประชากรเฉลี่ยของประเทศสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก ส่งผลให้ผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 65 ปี มีสัดส่วนมากถึง 30% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 40% ในปี 2060 และในปีเดียวกันนั้น จำนวนประชากรญี่ปุ่นจะลดลงจาก 128 ล้านคนเหลือเพียง 88 ล้านคน

นอกจากนี้จากการดำเนินอัตราดอกเบี้ยนโยบาย “ติดลบ” ของธนาคารกลางญี่ปุ่นยังกระทบรายได้ของกองทุนบำนาญ ส่งผลให้ญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาความเพียงพอของเงินทุนสำหรับรองรับผู้เกษียณเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยจากการจัดอันดับคุณภาพระบบบำนาญของ “เมลเบิร์น เมอร์เซอร์” ประเทศญี่ปุ่นมีคุณภาพระบบบำนาญอยู่ลำดับที่ 31 จาก 37 ประเทศ

ขณะเดียวกัน “ญี่ปุ่น” ยังขึ้นชื่อเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดย “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” จัดทำดัชนีชี้วัดความเท่าเทียมทางเพศ ปี 2019 ชี้ว่าญี่ปุ่นอยู่ลำดับที่ 110 จาก 149 ประเทศ เนื่องจากการมีส่วนร่วมของสุภาพสตรี ในระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างต่ำอยู่ลำดับที่ 125 และ 117 ของโลก และการขาดแคลนโอกาสในระบบเศรษฐกิจส่งผลต่อการเก็บเงินออมหลังเกษียณ รายงานระบุว่า เงินเก็บสำหรับวัยเกษียณของสตรีญี่ปุ่นจะหมดก่อนการเสียชีวิตถึง 20 ปี

ขณะที่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนานาชาติสาธารณสุขและสวัสดิการของญี่ปุ่น รายงานว่า ภายในปี 2060 สัดส่วนสตรีชาวญี่ปุ่นวัยเกษียณที่แต่งงานแล้วราว 25% และที่ครองตัวเป็นโสดอีก 50% จะมีคุณภาพชีวิตในระดับที่ต่ำกว่า “เส้นความยากจน”

นอกจากนี้ญี่ปุ่นมีช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศมากที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยข้อมูลขององค์การความร่วมมือเพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) พบว่า รายได้เฉลี่ยของผู้หญิงคิดเป็น 73% ของรายได้ผู้ชายเท่านั้น โดย “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีสาเหตุจากวัฒนธรรมที่เข้มงวดของญี่ปุ่นที่ภาระหน้าที่การดูแลงานบ้านทั้งหมดเป็นของผู้หญิงซึ่งส่งผลต่อโอกาสความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน

ไอเอ็มเอฟระบุว่าแรงงานสตรีส่วนใหญ่ทำงานประเภท “พาร์ตไทม์” ซึ่งสร้างผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่มักจ้างนักศึกษาจบใหม่สำหรับงาน “ฟูลไทม์” ส่งผลให้ผู้หญิงที่ลาออกจากงานประจำเพื่อเลี้ยงดูลูกจึงเสียโอกาสตรงนี้ นอกจากนี้สตรีซึ่งดำรงตำแหน่งระดับบริหารของบริษัท ซึ่งจ่ายผลตอบแทนสูงยังมีค่อนข้างน้อย โดยผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งระดับผู้อำนวยการมีเพียง 6.4% และระดับหัวหน้างานมีเพียง 8.9% โดยไอเอ็มเอฟระบุว่า การก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงมีความสัมพันธ์กับการทำงานล่วงเวลา ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสตรีชาวญี่ปุ่นซึ่งรับผิดชอบภาระงานบ้านแต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนี้วัฒนธรรมดังกล่าวยังส่งผลต่อมุมมองการจ้างงานสุภาพสตรีอีกด้วย โดยผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ชายมีมุมมองว่าผู้หญิงมีความเหมาะสมกับงานประเภทที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบ้านเรือนเท่านั้น เช่น การเลี้ยงดูเด็ก, การสอนหนังสือ และพยาบาล รายงานของไอเอ็มเอฟพบว่าในงานเทคนิคระดับสูงซึ่งสร้างรายได้มาก เช่น วิศวกร, อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัย ยังมีสัดส่วนผู้หญิงน้อยมากเพียง 2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มี 12.7%

แม้ว่านายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ จะพยายามปฏิรูปตลาดแรงงานผ่านกฎหมายต่าง ๆ เช่น การแก้กฎหมายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการกำหนดประเภทงาน “ฟูลไทม์แบบจำกัดเวลาทำงาน” เพื่อให้ผู้หญิงสามารถทำงานประเภท “ฟูลไทม์” และยังมีเวลาดูแลภาระงานบ้านได้ อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าแรงงานสตรีส่วนใหญ่ประมาณ 67% ยังคงทำงานพาร์ตไทม์ นอกจากนี้ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่า แรงงานสตรีญี่ปุ่นเพียง 28.4% ที่มองว่าได้รับโอกาสทางการงานเท่าเทียมกับสุภาพบุรุษ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% จากปี 2016

ดังนั้นการเปลี่ยนมุมมองต่อหน้าที่การงานของสุภาพสตรีจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ และอาจเป็นการปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอีกด้วย