Oxfam ชี้โลกเหลื่อมล้ำ ออมวันละหมื่นดอลลาร์ตั้งแต่ยุคสร้างพีระมิด ก็รวยไม่เท่าเศรษฐีปัจจุบัน

รอยเตอร์สรายงานผลวิจัย “Time to Care” (ถึงเวลาที่ต้องใส่ใจ) ของมูลนิธิ “อ็อกแฟม” (Oxfam) ที่ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา “มหาเศรษฐี” ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 2,153 คนหรือคิดเป็นสัดส่วน 1% ของประชากรโลกมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าสองเท่าของคนยากจน 4,600 ล้านคนหรือ 60% ของประชากรโลก ขณะที่ผู้หญิงและเด็กหญิงในหลายพื้นที่ในโลกยังคงต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าแรง จากความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ

รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ก่อนการประชุมประจำปีของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย “อมิทาบห์ เบฮาร์” ซีอีโอของอ็อกแฟม อินเดีย ระบุว่า “เศรษฐกิจที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ ของเราอยู่ภายใต้การแสวงหาความมั่งคั่งอย่างไร้ความยุติธรรมของมหาเศรษฐีและธุรกิจขนาดใหญ่ ในการดึงดูดเงินจากกระเป๋าของชายหญิงธรรมดาทั่วไป ไม่น่าแปลกใจเลยถ้าผู้คนจำนวนมากจะเริ่มตั้งคำถามว่า เศรษฐีพันล้านยังควรจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่”

จากข้อมูลของบลูมเบิร์กระบุว่า บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 3 คนมีทรัพย์สินรวมกันทั้งสิ้น 231,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี 20 อันดับแรกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี 2012 จาก 672,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 1.397 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

อ็อกแฟมระบุด้วยว่า แม้ว่าบุคคลธรรมดาจะเก็บออมเงินวันละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันตั้งแต่ยุคการสร้างพีระมิดของอียิปต์โบราณ เมื่อ 4,000 ปีก่อน ก็ยังจะมีทรัพย์สินเพียง 1 ใน 5 ของทรัพย์สินโดยเฉลี่ยของมหาเศรษฐี 5 อันดับแรกของโลกในปัจจุบัน

รายงานยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลกทำงานรวมกันราว 12,500 ล้านชั่วโมงต่อวันโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนและไม่ได้รับการตระหนัก อย่างงานด้านการดูแลสมาชิกในครอบครัวและการทำงานบ้าน ทั้งนี้ อ็อกแฟมประมาณการว่า การทำงานที่ปราศจากค่าแรงของผู้หญิงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีถึงสามเท่า ขณะที่เศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 22 คนมีทรัพย์สินมากกว่าทรัพย์สินของผู้หญิงในแอฟริกาทั้งหมดรวมกัน

เบฮาร์ระบุว่า “เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเราที่จะต้องเน้นย้ำว่า กลไกเบื้องหลังของระบบเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นการทำงานของผู้หญิงโดยไม่ได้รับค่าแรงจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง” โดยเบฮาร์ได้ยกตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมทางเพศในเศรษฐกิจโลกอย่างกรณีของ “บูชู เทวี” สตรีชาวอินเดียที่ใช้เวลา 16-17 ชั่วโมงต่อวันในการทำงานอย่าง การไปตักน้ำในแหล่งน้ำที่ห่างจากที่พักอาศัยออกไป 3 กิโลเมตร การประกอบอาหาร การเตรียมความพร้อมและส่งลูกไปโรงเรียน ก่อนที่เธอจะไปทำงานที่ได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด

“ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งคุณจะพบเห็นบรรดาเศรษฐีซึ่งไปเดินทางไปรวมตัวกันอยู่ที่ดาวอสด้วยเครื่องบินส่วนตัว พร้อมกับไลฟ์สไตล์แบบอภิมหาเศรษฐี” เบฮาร์กล่าวพร้อมระบุว่า “บูชู เทวี ไม่ใช่เพียงคนเดียว ในอินเดียผมพบเห็นผู้หญิงเช่นนี้แทบทุกวันและเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เราต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้และยุติการเพิ่มพูนความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี”

เบฮาร์ชี้ว่าในการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลทั่วโลกควรตรวจสอบให้มั่นใจว่า “คนรวยจ่ายภาษี” ที่เหมาะสมและมากเพียงพอ และภาษีนั้นควรจะต้องถูกนำมาพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ อย่างเช่น น้ำสะอาด ระบบสาธารณสุข และโรงเรียนที่มีคุณภาพ “เพียงคุณมองไปรอบ ๆ โลก มีมากกว่า 30 ประเทศกำลังประท้วง คุณคิดว่าผู้คนบนถนนกำลัพูดถึงเรื่องอะไรกัน? นั่นก็คือพวกเขาจะไม่ยอมรับความไม่เท่าเทียมนี้ พวกเขาจะไม่อยู่ใต้ข้อจำกัดแบบนี้” เบฮาร์กล่าว