“จีน” คุมการซื้อขายอนุพันธ์รัฐวิสาหกิจ ป้องกันความเสี่ยงจากการเก็งกำไร

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบการบริหารทรัพย์สินรัฐของทางการจีน หรือ เอสเอเอสเอซี ออกกฎควบคุมการซื้อขายอนุพันธ์ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจซึ่งดูแลโดยรัฐบาลกลาง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 ม.ค. 2020) เพื่อควบคุมพฤติกรรมการเก็งกำไรของบริษัทรัฐวิสาหกิจด้วยสัญญาอนุพันธ์ต่างประเทศซึ่งอาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ กฎใหม่ของทางเอสเอเอสเอซีกำหนดให้รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกลางสามารถซื้อขายอนุพันธ์ต่างประเทศเพื่อการป้องกันความเสี่ยงเท่านั้น โดยการซื้อขายอนุพันธ์เพื่อการเก็งกำไรถูกห้าม นอกจากนี้ทางบริษัทรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องจัดทำกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งรายงานสถานะการซื้อขายอนุพันธ์ต่อเอสเอเอสเอซีอย่างสม่ำเสมอ

โดยภายใต้กฎใหม่ทางเอสเอเอสเอซีกำหนดว่าปริมานการซื้อขายอนุพันธ์ของบริษัทรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีต้องห้ามเกิน 90% ของสินทรัพย์อ้างอิงที่บริษัทรัฐวิสาหกิจดังกล่าวสามารถผลิตได้ในแต่ละปีรวมกับปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงดังกล่าวของปีนั้น นอกจากนี้การซื้อขายอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงในแต่ละครั้งยังต้องห้ามเกิน 80% ของปริมาณสินทรัพย์อ้างอิงที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงอีกด้วย

เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบการบริหารทรัพย์สินรัฐ กล่าวว่า “กิจกรรมการซื้อขายอนุพันธของบริษัทรัฐวิสาหกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องมีการออกกฎเกณฑ์ที่ทันสมัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”

ทั้งนี้ กฏเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นขึ้นภายหลัง “ซิโนเปค” บริษัทโรงกลั่นน้ำมันซึ่งบริหารโดยรัฐบาลปักกิ่งกลางสูญเสียเงินทุนจากการซื้อขายอนุพันธ์เพื่อเก็งกำไรถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นการขาดทุนจากการเก็งกำไรอนุพันธ์ที่มากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยทาง “ซิโนเปค” ได้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งระบุสาเหตุการขาดทุนว่าเกิดจากแผนการเก็งกำไรอนุพันธ์น้ำมันดิบที่ผิดพลาด