วิกฤตสงครามลิเบีย เดิมพัน “น้ำมัน” ซ้ำเติมโลก

REUTERS/Ismail Zitouny/File Photo

ประเทศลิเบียติดหล่มความขัดแย้งภายในประเทศ นับตั้งแต่การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมของ “โมอัมมาร์ กัดดาฟี” ที่ครองอำนาจประเทศยาวนานถึง 4 ทศวรรษ ก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง

ทั้งนี้ภายหลังปี 2014 ประเทศลิเบียแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล “ทริโปลี” ที่ได้รับการยอมรับโดยสหประชาชาติ ซึ่งมี “ฟาเยซ อัล ซาราจ” เป็นผู้นำ และอีกฝ่ายนำโดย “คาลิฟา ฮาฟตาร์” นายทหารคนสำคัญของลิเบีย ซึ่งไม่ยอมรับรัฐบาลทริโปลี และสร้างศูนย์กลางอำนาจปกครองอยู่ที่เมืองโตบรุกทางตะวันออกของประเทศ โดยทั้ง 2 ฝ่ายก่อสงครามเพื่อแย่งอำนาจโดยสงครามกลางเมืองลิเบียดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อทั้งชีวิตประชาชนจำนวนมาก

นอกจากนี้สงครามในลิเบียยังมีประเทศที่สามอีกหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งดังกล่าวซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

โดยอัลจาซีรารายงานว่าความรุนแรงล่าสุดที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันได้ปะทุขึ้นเมื่อ เม.ย. 2019 โดยกองกำลังของ นายพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ยกพลเข้ารุกรานกรุงทริโปลี เมืองหลวงของฝ่ายรัฐบาล หลายเดือนของความขัดแย้งกองกำลังรัฐบาลและสหประชาชาติสามารถป้องกันการรุกรานของกองทัพ “ฮาฟตาร์” จึงนำมาสู่ความพยายามจากหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงคราม เพื่อนำไปสู่การหยุดยิงชั่วคราวและเปิดการเจรจาเพื่อยุติสงครามที่กรุงมอสโก เมื่อ 13 ม.ค. 2020 รวมถึงการเจรจาที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อ 19 ม.ค. 2020

อย่างไรก็ตาม การเจรจาที่มอสโกประสบความล้มเหลว ส่งผลให้สถานการณ์กลับมาปะทุอีกครั้ง โดยบลูมเบิร์กรายงานเมื่อ 18 ม.ค. 2020 ระบุว่ากองกำลังของฝ่าย “ฮาฟตาร์” ได้ปิดท่าเรือส่งน้ำมันและบ่อน้ำมันทางบริเวณตะวันออกของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อปริมาณอุปทานน้ำมันดิบประมาณ 800,000 บาร์เรล/วัน จากกำลังการผลิตทั้งหมดของลิเบีย 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการเจรจาที่กรุงเบอร์ลินเพียง 1 วันเท่านั้น ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่านายพลคาลีฟาห์ ฮาฟตาร์ จงใจใช้ประเด็นความมั่นคงทางพลังงานเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ

โดยการเจรจาที่กรุงเบอร์ลินทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสงครามเห็นพ้องว่าควรยุติการสนับสนุนยุทโธปกรณ์แก่คู่ขัดแย้งของลิเบียทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตามการยุติการสนับสนุนอาวุธเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขความขัดแย้งที่อาจกลับมารุนแรงได้ทุกเมื่อ รอยเตอร์สรายงานว่าภายหลังการเจรจาดังกล่าว กองทัพ “ฮาฟตาร์” ได้ปิดท่อส่งน้ำมันของบ่อน้ำมัน 2 แห่งทางตอนใต้ของประเทศ จนนำไปสู่การยุติการผลิตของบ่อน้ำมันดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะซ้ำเติมสถานการณ์ที่มีความอ่อนไหวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงด้านพลังงานโลกอีกด้วย

ด้านสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐอเมริกา (EIA) รายงานคาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบของโลก ในปี 2020 ที่ระดับ 102.37 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ความต้องการน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับ 102.11 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นปริมาณเกินดุลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางอาจบานปลายและส่งผลต่อตลาดน้ำมันโลกทุกเมื่อ

ดังนั้นการกระทำของนายพลคาลีฟาห์ ฮาฟตาร์ จึงอาจเป็นการจี้ตรงจุดประเด็นความมั่นคงพลังงานโลก เนื่องจากกำลังการผลิตจากลิเบียอาจส่งผลให้ตลาดน้ำมันโลกเข้าสู่ภาวะขาดดุลได้

นอกจากนี้การมีประเทศที่สามจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้สงครามกลางเมืองลิเบียมีความซับซ้อนทางผลประโยชน์ที่ยากจะหาทางออกร่วมกันได้

ขณะที่ “แหล่งน้ำมันดิบสำรอง” อาจเป็นจุดขัดแย้งของหลายฝ่ายที่ต้องการผลประโยชน์ทางพลังงาน แม้ว่าลิเบียจะมีกำลังการผลิตที่ไม่เทียบเท่ากับยักษ์พลังงานอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่ลิเบียมีแหล่งน้ำมันดิบสำรองมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นประเทศที่มีน้ำมันมากที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยอีไอเอประเมินว่า ลิเบียมีแหล่งน้ำมันดิบสำรองที่ได้รับการพิสูจน์แล้วประมาณ 47,000 ล้านบาร์เรล ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก

นอกเหนือจากแหล่งน้ำมันดิบสำรองและพลังงานอื่น ๆ แล้ว ลิเบียยังมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อหลายประเทศในภูมิภาค โดยบีบีซีระบุว่า ลิเบียมีชายฝั่งติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ลาดยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของหลายประเทศ โดยทะเลดังกล่าวเป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมต่อภูมิภาคยุโรป, แอฟริกา และตะวันออกกลางเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยังมีเส้นทางออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ผ่านช่องแคบยิบรอลตา ซึ่งเป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรเพียงแห่งเดียวของหลายประเทศบริเวณนั้น รวมถึงตุรกีและรัสเซียที่ต้องการหาเส้นทางออกสู่มหาสมุทรผ่านทางเส้นทางทะเลดำซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและช่องแคบยิบรอลตา

นอกจากนี้ลิเบียยังเป็นประตูสำหรับผู้อพยพและกลุ่มหัวรุนแรงจากแอฟริกาที่เดินทางเข้าสู่ยุโรปผ่านช่องทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกด้วย โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในยุโรป

สงครามกลางเมืองลิเบียจึงไม่อาจยุติลงโดยง่าย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของหลายฝ่าย และราคาน้ำมันอาจเผชิญกับความผันผวน จากการปิดบ่อน้ำมันของกองทัพ “ฮาฟตาร์” เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองบนโต๊ะเจรจา รวมถึงเหตุการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจริงกับแหล่งผลิตน้ำมัน


นอกจากนี้ราคาน้ำมันอาจถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ตะวันออกกลางที่อาจลุกลามและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งกำลังฟื้นตัวอย่างเปราะบางในปีนี้