“อีลอน มัสก์” ทดสอบยาน Dragon ภารกิจอวกาศสหรัฐใต้อุ้งมือเอกชน

(AP Photo/John Raoux)

กิจการด้านอวกาศที่ผ่านมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อแข่งขันกันเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ “นาซ่า” ที่เป็นที่จดจำจากการประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ

แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดดูเหมือนว่า ภาครัฐจะวางมือจากการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศด้วยตนเอง โดยส่งผ่านภารกิจมาสู่มือของเอกชนมากขึ้น

“เดอะการ์เดียน” รายงานความสำเร็จของ “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX) บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐในการทดสอบขั้นสุดท้ายของยานอวกาศ “ดราก้อน” (Dragon) ในวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ใช้เวลาพัฒนามาหลายปี

โดยเป็นการทดสอบความปลอดภัยของ “แคปซูลผู้โดยสาร” ในกรณีที่ยานอวกาศเกิดขัดข้องฉุกเฉิน แม้จะเลื่อนกำหนดการทดสอบออกไปจากวันที่ 18 ม.ค. เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ แต่การทดสอบในวันต่อมาก็ผ่านไปได้ด้วยดี โดยเริ่มจากการยิงจรวด “ฟอลคอน 9″พร้อมหุ่นทดลอง 2 ตัวในแคปซูลผู้โดยสารของยานอวกาศดราก้อน จากศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดาของสหรัฐ

หลังจากจรวดทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เพียง 84 วินาที แคปซูลผู้โดยสารก็สามารถดีดตัวขับเคลื่อนตัวเองออกจากจรวดที่จำลองเหตุขัดข้อง และสามารถโรยตัวลงไปในมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยร่มชูชีพได้อย่างปลอดภัย ก่อนที่จรวดทดลองจะระเบิดในเวลาต่อมา

“อีลอน มัสก์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมรู้สึกดีที่สุด มันยอดเยี่ยมมากที่จะนำนักบินอวกาศกลับสู่วงโคจรอีกครั้งจากผืนดินของอเมริกาเอง หลังจากที่ไม่สามารถทำได้มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว มันน่าตื่นเต้นสุด ๆ เลย”

“ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า การพัฒนาดังกล่าวเป็นความพยายามของนาซ่าในการผลักดันให้ภาคเอกชนสหรัฐพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ หลังจากที่โครงการกระสวยอวกาศของนาซ่ายุติลงในปี 2011 โดยนาซ่าได้หันมาลงทุนในบริษัท “โบอิ้ง” ด้วยเม็ดเงิน 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการพัฒนายานอวกาศ “สตาร์ไลเนอร์” (Starliner) ขณะที่สเปซเอ็กซ์ก็ได้รับเงินลงทุนจากนาซ่า 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่านาซ่าจะร่วมลงทุนพัฒนายานอวกาศกับโบอิ้งและสเปซเอ็กซ์ แต่บริษัทเอกชนทั้งสองแห่งจะเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ โดยนาซ่าจะเป็นเพียงลูกค้าหลักในการใช้งานยานเพื่อปฏิบัติภารกิจอวกาศเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการพัฒนายานอวกาศของภาคเอกชน ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของนาซ่าที่คาดว่ายานอวกาศของเอกชนจะพัฒนาได้สำเร็จภายในปี 2017 ส่งผลให้นาซ่าต้องสูญเสียงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในการส่งนักบินอวกาศอเมริกันไปยังสถานีอวกาศนานาชาติด้วยโครงการยานอวกาศโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา

“เคธี่ เดอร์ส” ผู้จัดการโครงการลูกเรือพาณิชย์ของนาซ่า ระบุหลังจากเสร็จสิ้นการทดลองว่า ยังจะต้องมีการทดสอบอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับระบบร่มชูชีพของแคปซูลผู้โดยสารอีก และยังจะต้องตรวจสอบข้อมูลการทดลองครั้งนี้โดยละเอียด รวมถึงข้อมูลจากหุ่นทดลองเพื่อคำนวณหาน้ำหนักของนักบินอวกาศที่เหมาะสมกับยานอวกาศนี้ โดยอีลอน มัสก์ ระบุว่า ยานอวกาศดราก้อนจะพร้อมสำหรับภารกิจนำนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้ภายใน เม.ย.ปีนี้

การทดสอบที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้ยังถูกมองว่า เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของสเปซเอ็กซ์ หลังจากที่โบอิ้งล้มเหลวในการทดสอบวงโคจรการบินของยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์เมื่อ ธ.ค. 2019 ที่ไม่สามารถลงจอดในสถานีอวกาศนานาชาติได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อความพร้อมของยานอวกาศโบอิ้ง ต่างจากยานอวกาศดราก้อนของสเปซเอ็กซ์ที่ผ่านการทดสอบวงโคจรการบินและการเทียบท่าที่สถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จในเดือน มี.ค. 2019

และความล้มเหลวของโบอิ้งก็อาจส่งผลให้สเปซเอ็กซ์มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านกิจการอวกาศของสหรัฐ หากสเปซเอ็กซ์สามารถรองรับการปฏิบัติภารกิจอวกาศรหัสดีเอ็ม-2 (DM-2) ของนาซ่าได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ และยังเป็นภารกิจอวกาศครั้งแรกของสเปซเอ็กซ์นับตั้งแต่ก่อตั้งมา 18 ปี

นอกจากนี้ ความสำเร็จในการทดสอบของยานอวกาศดราก้อนของสเปซเอ็กซ์ซึ่งได้รับการรับรองจากนาซ่า ยังจะช่วยให้สเปซเอ็กซ์กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศเชิงพาณิชย์ที่อาจพลิกโฉมการเดินทางท่องอวกาศของมนุษย์ทั่วไปในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย