“สงครามการค้าโลก” รอปะทุหลังดีลจีน-สหรัฐ

REUTERS/Kevin Lamarque

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ในระยะสั้น ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกคึกคักรับการลงนามในความตกลงระยะแรกระหว่างประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 อย่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

แต่ใครที่ใคร่ครวญอย่างรอบคอบ จะพบเห็นได้ทันทีว่า ความตกลงที่ว่านั้นไม่มีผลใด ๆ ต่อความขัดแย้ง และความไม่แน่นอนในระบบการค้าระหว่างประเทศโดยรวมทั้งหมด ที่ดำรงอยู่มาตลอดตั้งแต่ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสงครามการค้ากับจีนเป็นครั้งแรก

เป็นความขัดแย้งซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นในหลาย ๆ ทาง ที่ในที่สุดก็จะกลายเป็นตุ้มถ่วงมหึมาให้เศรษฐกิจโลกถดถอย ตกต่ำ หรือเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นตามมาได้ในปีนี้

ตั้งแต่ต้นปีเรื่อยไปจนถึงปลายปี อย่างน้อยยังคงมี “ระเบิดเวลา” ขนาดใหญ่อยู่มากถึง 3 ลูกรอวันปะทุ ซึ่งหากขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือประเมินและคำนวณสถานการณ์ผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถระเบิดออกกลายเป็นสงครามการค้าที่ครอบคลุมเพื่อทำลายล้างระบบการค้าของโลกอย่างที่เราคุ้นเคยลงได้ในชั่วพริบตา

จุดเริ่มคือดีลการค้าระยะแรกระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา แบบ “ไม่สะเด็ดน้ำ” ที่โดนัลด์ ทรัมป์ และกลุ่มเหยี่ยวในทำเนียบขาวภูมิใจนักหนานั่นแหละ

นักเศรษฐศาสตร์, นักวิเคราะห์ตลาด และผู้เชี่ยวชาญทางการค้า พิจารณารายละเอียดแล้วยืนยันตรงกันว่า ยังน่าวิตกใหญ่หลวงมาก ถึงขนาดไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เอาเข้าจริงแล้วภายในปีนี้ จีนกับสหรัฐอเมริกาจะสามารถเริ่มต้นการเจรจาระยะที่สอง ที่จริงจังเข้มข้นกว่า และเป็นสาระสำคัญที่เป็นหัวใจของความตกลงการค้าของทั้งสองฝ่ายได้หรือไม่

นักวิเคราะห์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ อุปมาดีลที่ลงนามกันมาว่า เปรียบเสมือนการชวนกันไล่เก็บผลไม้ที่ห้อยอยู่เตี้ย ๆ พอเอื้อมมือถึงได้ไปเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้ความตึงเครียดระหว่างกันยุติลงได้อย่างแน่นอน

แชด บราวน์ อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ซึ่งปัจจุบันทำงานวิชาการอยู่ที่สถาบันไม่แสวงกำไร ปีเตอร์สันเพื่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เตือนให้เราได้ตระหนักว่า ขณะที่การเจรจาระยะที่ 2 แทบไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จในระยะเวลาสั้น ๆ นั้น สหรัฐยังเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในระดับที่สูงมากอยู่ราว 2 ใน 3 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด หรือราว 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่จีนก็ยังคงเก็บภาษีตอบโต้กับสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาถึงกว่าครึ่งอยู่ในระดับเดียวกัน

ในเวลาเดียวกันยังมีประเด็นปัญหาอีกหลายอย่างที่มีบริบทแตกต่างออกไป และเป็นเงื่อนปมซึ่งต่างฝ่ายต่างตกอยู่ในสภาพ “ยอมไม่ได้” อย่างเช่น กรณีของเทคโนโลยี, 5 จี และหัวเว่ย เป็นต้น

ผลสะเทือนของเรื่องนี้อาจเป็นไปในแนวทางที่ เจเนต เยลเลน อดีตประธานเฟดเตือนเอาไว้ว่า อาจส่งผลให้พัฒนาการของทั้งโลกในด้านปัญญาประดิษฐ์, โครงข่าย 5 จี และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องชะลอตัว หรือหยุดชะงัก

หรืออาจกลายเป็นการฉุดดึงเอาทั้งโลกให้แตกแยกเป็นสองฝ่าย พาตัวเองเข้าสู่ “วงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ” ที่วงหนึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางอีกวงหนึ่งมีจีนเป็นศูนย์กลาง อย่างที่ มาร์ก วิลเลียมส์ แห่งแคปิตอล อีโคโนมิกส์ คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งจะจำกัดการไหลเวียนของบุคลากร, เทคโนโลยีและแนวความคิด ซึ่งกันและกัน

ไม่เป็นผลดีต่อโลกทั้งโลกมากยิ่งขึ้นไปอีก

ระเบิดเวลาลูกที่สอง คือ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป (อียู) ที่ชะงักอยู่กับเรื่องเล็ก ๆ อย่างเช่น ภาษีนำเข้าไวน์ แต่ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อฝรั่งเศสประกาศเรียกเก็บภาษีจาก “บริการเชิงดิจิทัล” อย่างเฟซบุ๊ก และกูเกิล

เพราะทำให้สหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาอยู่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีเป็นการตอบโต้ต่อสินค้าจากฝรั่งเศส มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ในเร็ว ๆ นี้ ในขณะที่อียู ซึ่งทำหน้าที่กำกับ บริหารจัดการด้านการค้าของยุโรปทั้งหมดก็ยืนกรานเช่นกันว่า พร้อมจะตอบโต้ทันที หากสหรัฐอเมริกาเริ่มเล่นงานก่อน

อุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรป เริ่มหนาว ๆ ร้อน ๆ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐกับอียู แค่จะให้เริ่มต้นขึ้นก็ยากแล้ว เพราะความขัดแย้งในประเด็นที่ว่า สินค้าเกษตรควรรวมอยู่ในการเจรจานี้หรือไม่

ปัญหาก็คือ ปริมาณการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับอียูนั้นใหญ่โตที่สุดในโลกมูลค่ารวมสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เขย่าระบบการค้าทั้งโลกได้สบาย ๆ

ปิดท้ายด้วยระเบิดเวลายี่ห้อเก่าอย่าง “เบร็กซิต” ซึ่งอีกไม่นานน่าจะเข้าสู่ขั้นตอนเจรจาเพื่อทำความตกลงการค้าที่ครอบคลุมระหว่างอังกฤษกับอียู

ปัญหาคือ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยืนกรานว่าเรื่องนี้ต้อง “จบ” ภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและอียูเองยืนกรานเช่นกันว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่จะเจรจาเรื่องใหญ่และซับซ้อนเช่นนั้นในเวลาสั้น ๆ

ผลก็คือ โลกก็จะได้ “ความตกลงการค้า” อังกฤษ-อียูแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือไม่ก็ไม่มีความตกลงใด ๆ พิกัดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างสองฝ่ายพุ่งพรวดขึ้นทันทีเมื่อสิ้นปี

“สงครามการค้าโลก” จะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้ง 3 เรื่องนี้นี่เอง