สุญญากาศทางอำนาจ ‘ความยุ่งเหยิงโลกใหม่’ ที่ดาวอส

REUTERS/Denis Balibouse

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

นงนุช สิงหเดชะ

เปิดฉากไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสำหรับการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นการชุมนุมผู้นำทางการเมืองและธุรกิจโลก และหลาย ๆ ภาคส่วนที่เริ่มขึ้นทุกเดือนมกราคมของทุกปี

แต่อย่างที่ทราบกัน โลกในระยะ 2-3 ปีมานี้เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบ และไร้เสถียรภาพ โดยต้นเหตุใหญ่นั้นเริ่มจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2559 และเริ่มเข้าบริหารประเทศในต้นปี 2560 ซึ่งมีการออกนโยบายหลายอย่างกลับหัวกลับหางจากสิ่งที่เคยเป็น

“ระเบียบโลก” (world order) ไม่ว่าจะเป็นการค้า การต่างประเทศ และการแก้ปัญหาโลกร้อนระเบียบโลกใหม่ (new world order)เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อุดมการณ์สำคัญคือการสนับสนุนเสรีนิยม-ทุนนิยม มีสหรัฐเป็นแกนนำ แต่หลังจากทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ดูเหมือนจะเป็นผู้ทำลายระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐเคยเป็นตัวตั้งตัวตี ด้วยเหตุนั้นการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ปีนี้จึงมีผู้ร่วมงานบางคนอย่าง อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ อดีตนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ เปรียบเปรยว่า การประชุมปีนี้มี “ความยุ่งเหยิงโลกใหม่”(new world disorder) ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

อดีตนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ระบุว่า ปัจจุบันสหรัฐทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ ทั้งเรื่องการค้า ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคง รวมทั้งความเป็นผู้นำโลก คำถามคือใครจะเข้ามาเติมเต็มสุญญากาศเหล่านี้ “อเมริกากำลังเล่นเกมอำนาจที่เปลี่ยนไปจากที่เราคุ้นเคย”

ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า สหภาพยุโรป (อียู) พยายามจะขับเคลื่อนโลกแทนสหรัฐด้วยการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างสหรัฐกับตะวันออกกลาง พยายามจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ด้วยความที่เกิดการแตกแยกภายในสมาชิกอียู 28 ประเทศ ทำให้อียูไม่สามารถขับเคลื่อนโลกได้

หัวข้อหลักการประชุมที่ดาวอสปีนี้ คือ การทำธุรกิจให้เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศมากขึ้น แต่ขาใหญ่ของโลกอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อนเพราะไม่เชื่อว่าปัญหาโลกร้อนมีจริง ก็ได้รับเชิญให้ไปพูดที่งานประชุมนี้ด้วยเช่นกัน แต่ทว่า สุนทรพจน์ของทรัมป์กลับไม่มีสิ่งใดที่บอกว่าอเมริกาจะช่วยแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่

ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่า สุนทรพจน์ของทรัมป์คล้ายจะเป็นการพูดหาเสียงก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่กับชาวอเมริกันที่เป็นฐานเสียงของเขามากกว่า เพราะมีการโอ้อวดว่านโยบาย “อเมริกาเฟิรสต์” ของเขาประสบความสำเร็จ ดังนั้น หลาย ๆ ประเทศควรเอาอย่างเนื่องจากทำให้เศรษฐกิจบูม ประชาชนมีงานทำ สร้างโอกาสใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุมต้องการให้สหรัฐลดความขัดแย้งกับสหภาพยุโรปจะดีกว่า หลังจากตึงเครียดด้านการค้ามานานจากการที่ทรัมป์เก็บภาษีสินค้าหลายชนิดจากยุโรป สิ่งที่ทรัมป์พูดนั้นมองแต่แง่ดีมากเกินไป

ถึงแม้ผู้นำสหรัฐจะกล่าวอ้างถึงความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าปีที่แล้วเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 2.3% และลดลงเหลือ 2% ในปีนี้ ส่วนปีหน้าจะต่ำลงไปอีกเหลือ 1.7%

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของภาคธุรกิจอย่าง เจส สเตลีย์ ประธานบริหารบาร์เคลย์ เห็นว่า การประชุมที่ดาวอสปีนี้สร้างความหวังมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากมีแนวโน้มที่รัฐบาลหลายประเทศจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ลดดอกเบี้ยจนอยู่ในอัตราติดลบ 0.5% ต่ำเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งประธานอีซีบีคนใหม่เรียกร้องให้สมาชิกไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ใช้มาตรการการคลังเพื่อผลักดันเศรษฐกิจยูโรโซน


ประธานบริหารบาร์เคลย์ ระบุว่า นอกจากนี้ การที่สหรัฐกำลังใช้มาตรการการคลังผลักดันเศรษฐกิจ จะทำให้หลายประเทศ เช่น อังกฤษ เอาอย่างตาม ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลอังกฤษจะออกมาตรการการคลังเพื่อลงทุนเป็นวงกว้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากนโยบายทางการเงินที่ทั่วโลกนำมาใช้เริ่มอ่อนแรงลงเพราะลดดอกเบี้ยจนใกล้ติดลบ กระทั่งแทบไม่มีอะไรเหลือให้ลดอีกแล้ว