มหันตภัย ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ คุกคามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

การแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรน่า” สายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดขึ้นเมื่อปลาย ธ.ค. 2019 ที่เมืองอู่ฮั่น ของประเทศจีน หรืออีกชื่อที่เรียกว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” ที่มีการแพร่ระบาดในเมืองสำคัญหลายแห่งของจีน กำลังกลายเป็นประเด็นความเสี่ยงใหญ่ของโลก

หลังจากที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน ประกาศยืนยันเมื่อ 21 ม.ค. 2020 ระบุว่าเชื้อไวรัสอู่ฮั่น สามารถติดต่อจาก “คนสู่คน” โดยเป็นโรคติดต่อจากทางเดินหายใจ ซึ่งสร้างความกังวลว่าการแพร่ระบาดอาจลุกลามมากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนหลายล้านคนเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก

ขณะที่ทั่วโลกตำหนิการปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคและดำเนินมาตรการป้องกันที่ล่าช้า ส่งผลให้พบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนยืนยันข้อมูลล่าสุด (23 ม.ค.) พบว่า ผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 830 ราย และผู้เสียชีวิต 26 ราย ซึ่งนอกจากในประเทศจีน โดยเฉพาะในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ แล้วก็ยังพบผู้ติดเชื้อในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และยังพบผู้ติดเชื้อประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเก๊า ไต้หวัน รวมถึงสหรัฐอเมริกา

WHO ถกยังไม่ประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน”

ขณะที่องค์การอนามัยโลกจัดประชุมฉุกเฉิน เมื่อ 23-24 ม.ค. 2020 เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและพิจารณาการประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการยกระดับมุมมองของดับเบิลยูเอชโอต่อความรุนแรงของการระบาดของเชื้อไวรัส โดยอาจเทียบเท่ากับความรุนแรงของโรคซาร์ส เมื่อปี 2002/2003 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนประมาณ 774 ชีวิต จากผู้ติดเชื้อ 8,098 ราย เนื่องจากดับเบิลยูเอชโอประเมินว่าการแพร่ระบาดของเชื้อส่วนใหญ่ยังคงจำกัดอยู่ที่จีนเท่านั้น จึงเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน”

อย่างไรก็ตาม อัตราการแพร่ระบาดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเจ้าหน้าที่จากดับเบิลยูเอชโอเปิดเผยว่า“ไวรัสโคโรน่ามีอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่าซาร์สเป็นอย่างมาก โดยภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือนพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 576 ราย ขณะที่ในการแพร่ระบาดของโรคซาร์สส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพียง 456 ราย ในระยะเวลา 2 เดือน”

จีนปิดเมือง “อู่ฮั่น-หวงกั่ง” สกัดเชื้อแพร่

เนื่องจากการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ทำให้รัฐบาลเมืองอู่ฮั่นประกาศ “มาตรการปิดเมือง” เมื่อ 23 ม.ค. 2020 โดยยุติการให้บริการโครงข่ายขนส่งสาธารณะของเมืองอู่ฮั่น พร้อมทั้งสั่งห้ามทุกเที่ยวบินขาออกจากเมือง รวมถึงถนนสายสำคัญซึ่งเชื่อมต่อเมืองกับส่วนอื่น ๆ ของประเทศจีนก็ถูกปิดเพื่อป้องกันชาวเมืองเดินทางออก

นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้สั่งปิด“เมืองหวงกั่ง” ซึ่งอยู่ติดกับอู่ฮั่นเพิ่มอีกแห่ง โดยระบบโครงข่ายคมนาคมของเมือง รวมถึงสถานบันเทิงต่าง ๆ ถูกระงับการใช้บริการ ส่งผลกระทบต่อประชากรราว 18 ล้านชีวิต ในวันต่อมายังมีประกาศปิดเมือง “เหอโจว” และอีกหลายเมืองในมณฑลหูเป่ย์อีกด้วย

โดยการปิดเมืองของจีน ถือเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อป้องกันการระบาดของโรค ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ขณะที่สายการบินหลายประเทศก็ยกเลิกเที่ยวบินมายังเมืองอู่ฮั่น นอกจากนี้ทางการฮ่องกงยังยุติการจำหน่ายตั๋วรถไฟความเร็วสูงทั้งเที่ยวไปและกลับจากอู่ฮั่น โดยเมืองอู่ฮั่นและหวงกั่งถูกปิดทั้งขาเข้าและขาออก

นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้ประกาศยกเลิกการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนหลายแห่งในกรุงปักกิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวของฝูงชนจำนวนหลายร้อยล้านคน ทั้งชาวจีนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาร่วมงานเฉลิมฉลอง และอาจนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสมากขึ้นอีกด้วย

ปิดเมืองแห่งยานยนต์ ทุบจีดีพีจีน 1%

สำหรับ “เมืองอู่ฮั่น” ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน โดยข้อมูลจากรัฐบาลเมืองอู่ฮั่นระบุว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองอู่ฮั่น เมื่อปี 2019 อยู่ที่ระดับ 7.8% โดยเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่าเมืองอู่ฮั่นเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมและอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน ได้รับฉายาว่า “เมืองแห่งยานยนต์” อีกทั้งยังมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก ดังนั้นการปิดเมืองดังกล่าวจึงส่งผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนโดยตรง

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสอู่ฮั่นยังกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในภาพรวม โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก “ดิ อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต” (อีไอยู) เปิดเผยรายงานเมื่อ 24 ม.ค. 2020 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจจีน 0.5-1% ขณะที่ปีนี้คาดการณ์อัตราการเติบโตจีดีพีของจีนอยู่ที่เพียง 5.9% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าโรคซาร์ส เมื่อปี 2003 ซึ่งในครั้งนั้นกระทบต่อจีดีพีจีนถึง 2%

ทั่วโลกผวาไวรัสอู่ฮั่นเขย่าเศรษฐกิจโลก

“มาร์ก วิลเลียม” นักเศรษฐศาสตร์จาก “แคปิตัลอิโคโนมิกส์” กล่าวว่า ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าผลกระทบอาจไม่รุนแรงเท่าโรคซาร์ส แต่ปัจจุบันการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 17 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลกระทบอาจลุกลามไปยังเศรษฐกิจทั้งโลกได้

รวมทั้งจากที่ปัจจุบันแต่ละปีมีชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนมากกว่า 100 ล้านคน ทำให้โอกาสการแพร่กระจายเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อาจเกิดความตื่นตระหนกในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้

นอกจากภาคธุรกิจคมนาคม, ค้าปลีก และท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ มีโอกาสจะได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดย “คลอเดียร์ กาลิมเบอร์ตี้” จาก “เอส แอนด์ พี โกลบอล แพทส์” บริษัทวิจัยอุตสาหกรรมพลังงานคาดการณ์ว่า ผลการระบาดของไวรัสโคโรน่าส่งผลต่อการบริโภคน้ำมัน ประมาณ 200,000 บาร์เรล/วัน และอาจเพิ่มเป็น 700,000 บาร์เรล/วัน หากสถานการณ์รุนแรงเท่าโรคซาร์ส ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวและการบริโภคต่าง ๆ ลดลง

ด้วยความเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้น ทั้งด้านการค้า การลงทุน และคมนาคม หลายฝ่ายจึงกังวลว่าผลกระทบจากไวรัสอู่ฮั่นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ