เอกชนยังไม่วางใจ เศรษฐกิจญี่ปุ่นพ้น “ภาวะเงินฝืด”

ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นเคยได้ชื่อว่าเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจแห่งเอเชีย แต่ญี่ปุ่นสูญเสียสถานะดังกล่าวไปนานไม่น้อย หลังถูกภาวะเงินฝืดเล่นงานจนเศรษฐกิจโดยรวมหดตัว ปล่อยจีนแซงหน้าขึ้นไปหลายช่วงตัว จนนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ต้องประกาศนำพาประเทศพ้นภาวะเงินฝืดเป็นภารกิจสำคัญที่สุดตั้งแต่แรกเข้ารับตำแหน่งมาตรการหลายอย่างที่นำมาใช้ทั้งโดยรัฐบาล และธนาคารกลางของญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ประสบผล

ญี่ปุ่นยังคงตกอยู่ในวังวนของภาวะเงินฝืดที่การบริโภคอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การผลิตและการลงทุนหดตัว ภาวะเงินเฟ้อติดลบ ส่งผลกระทบต่อค่าจ้างแรงงานและวนกลับไปที่อำนาจซื้อลดลงไม่สิ้นสุด

นั่นทำให้ 4 ปีหลังที่ผ่านมานี้ บีโอเจ จำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบสุดโต่ง ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบติดลบ ที่พบเห็นกันไม่บ่อยนักอีกด้วย

ภาวะกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งสัญญาณออกมาให้เห็นในช่วงแรกของปีนี้ และเมื่อ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา บีโอเจแถลงความคืบหน้าในการดิ้นรนออกจากวัฏจักรเงินฝืด ด้วยการชี้ว่า “เอาต์พุต แก็ป” ล่าสุดของเศรษฐกิจโดยรวมอ่านค่าได้เป็นบวกต่อเนื่อง 3 ไตรมาสในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ โดยขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008

“เอาต์พุต แก็ป” คือส่วนต่างระหว่างอุปสงค์กับอุปทานโดยรวมของเศรษฐกิจทั้งประเทศ ความหมายของถ้อยแถลงดังกล่าวก็คือ ตอนนี้ดีมานด์ในเศรษฐกิจทั้งระบบของญี่ปุ่นสูงกว่าอุปทานที่มีในระบบ การขยายตัวต่อเนื่อง 3 ไตรมาส คือการบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังขยายตัว นานที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเลห์แมนฯเช่นเดียวกัน

ฮิโรชิ มิยาซากิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนลีย์ ในโตเกียว บอกว่า ค่าเอาต์พุตเป็นบวกดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังก้าวไปข้างหน้า เพื่อกลับคืนสู่สภาพเศรษฐกิจแบบปกติ ย้อนกลับไปเหมือนเมื่อครั้งก่อนหน้าปี 2008 ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตตามไปด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่นดูจะระมัดระวังในเรื่องนี้มาก นายกฯอาเบะยังคงไม่ผลีผลามประกาศออกมาว่า ญี่ปุ่นดิ้นพ้นจากภาวะเงินฝืดแล้ว แต่ใช้คำว่า “ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดอีกแล้ว” แทน สำนักนายกรัฐมนตรีออกมาขยายความคำพูดของอาเบะว่า หมายถึงการที่เศรษฐกิจรุดหน้าไปได้ จนถึงจุดที่ “ไม่มีความเสี่ยง” ที่จะกลับคืนสู่ภาวะเงินฝืดอีกแล้ว

รัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรวัดสำคัญในเรื่องนี้อยู่ 4 ด้าน ประกอบด้วย เอาต์พุต แก็ป, ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ชี้ภาวะเงินเฟ้อ, ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี ดีแฟลเตอร์) และสุดท้ายก็คือ ภาวะค่าจ้าง

นอกจากเอาต์พุต แก็ป ที่เป็นบวกต่อเนื่องแล้ว จีดีพีของญี่ปุ่นยังขยายตัวต่อเนื่องแม้จะเล็กน้อยก็ตาม ที่สำคัญคือ ตลาดแรงงานเริ่มตึงตัวมากขึ้น จนเกิดเป็นภาวะขาดแคลนแรงงานขึ้นแล้ว ซึ่งส่งสัญญาณถึงการขึ้นค่าแรงตามมา

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และภาคเอกชนยังไม่วางใจในเรื่องนี้ ปัญหาที่ทำให้หลาย ฝ่ายไม่วางใจว่า ญี่ปุ่นพ้นภาวะเงินฝืดแล้วจริง ๆ เป็นเพราะในขณะที่ดัชนีชี้วัดที่รัฐบาลใช้บางตัวปรากฏเป็นบวกมากขึ้นเรื่อย ๆ บางตัวกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นในลักษณะที่สอดคล้องกัน

ตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดก็คือ อัตราเงินเฟ้อ หรือดัชนีราคาผู้บริโภค ที่ยังคงต่ำมาก ไม่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดัชนีผู้บริโภคหลักขยับเพิ่มขึ้นเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤษภาคม ห่างจากเป้าหมายของบีโอเจที่กำหนดไว้ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หลายคนคาดว่า บีโอเจอาจปรับลดเป้าดังกล่าวลงมาในการประชุมครั้งใหม่ ขณะที่คาดกันว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปีในปีนี้ก็น่าจะอยู่ในระดับต่ำ คือต่ำกว่าระดับ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์เองยังวิเคราะห์ข้อมูลใหม่นี้แตกต่างกันออกไป ในขณะที่ ไดจู อาโอกิ หัวหน้าทีมวิจัยของยูบีเอสเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อต่ำดังกล่าวนั้นเกิดจากปัจจัยชั่วคราว แต่เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า และญี่ปุ่นจะเอาชนะภาวะเงินฝืดได้ในที่สุด

แต่ ฮิโรชิ อูกาอิ หัวหน้าทีมวิจัยของเจพีมอร์แกน เชส ชี้ว่า การที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวต่ำเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เอาต์พุต แก็ป เป็นบวกได้ง่ายมาก ในขณะที่ภาคเอกชนเองยังไม่เชื่อมั่นว่า ญี่ปุ่นกำลังกลับมาขยายตัวในระยะยาวอีกครั้งอย่างแน่นอน ผลก็คือเป็นไปได้น้อยมากที่เอกชนจะยอมขึ้นค่าแรง เพื่อไม่ให้ต้นทุนทำธุรกิจสูงขึ้น

กลุ่มที่ยังไม่แน่ใจเหล่านี้ ไม่ใช่ไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นพ้นภาวะเงินฝืด แต่กำลังเป็นกังวลว่า สถานการณ์ในเวลานี้อาจไม่ยืนยาวจนทำให้พ้นภาวะเงินฝืดได้จริง

ในเวลาเดียวกัน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่บีโอเจจะคิดเช่นนั้น และยกเลิกมาตรการไปพร้อม ๆ กับการพ้นตำแหน่งผู้ว่าการของ ฮารุฮิโกะ คูโรดะ ในเดือนเมษายนนี้ แล้วทำให้ญี่ปุ่นตกกลับไปสู่วัฏจักรเลวร้ายแบบเดิมอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง