อินโดจุดพลุ ‘ศก.ญิฮาด’ แก้เหลื่อมล้ำ

อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูง รายงานของธนาคารโลกระบุว่า อินโดนีเซียมีคนยากจนราว 25.1 ล้านคน โดยที่ชาวอินโดนีเซียส่วนหนึ่งมองว่า คนร่ำรวยส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนที่ครอบงำเศรษฐกิจ ขณะที่ชาวมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่กลับอยู่ในกลุ่มแรงงานฐานราก

นิกเคอิเอเชียนรีวิวรายงานว่า ความไม่เท่าเทียมดังกล่าว ส่งผลให้เกิดกระแส “เศรษฐกิจญิฮาด” (economic jihad) ของชาวมุสลิม โดย “ญิฮาด” หมายถึง “ความพยายาม” หรือ “การต่อสู้ที่น่าสรรเสริญ” ซึ่งถูกนำมาใช้ในแง่เศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งและกระจายความมั่งคั่งให้กับชาวมุสลิม

โดยเฉพาะการขยายตัวของ “ร้านสะดวกซื้ออิสลาม” ที่มีการจำหน่ายสินค้าทั่วไป ขณะเดียวกันก็จำหน่ายสินค้าตามหลักศาสนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์เอสเอ็มอีท้องถิ่น เช่น น้ำแร่ น้ำผึ้ง และเนื้อสัตว์แปรรูป และยังไม่จำหน่ายสินค้าที่ผิดหลักศาสนา ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และถุงยางอนามัย

“212 มาร์ต” (212 Mart) เป็นหนึ่งในเชนร้านสะดวกซื้ออิสลามที่ลงทุนโดยกลุ่มสหกรณ์ “212 ชะรีอะฮ์คอเปอเรทีฟ” ซึ่งชื่อดังกล่าวมาจากเหตุการณ์ประท้วงเมื่อ 2 ธ.ค. 2016 จากความไม่พอใจ นายบาซูกี จาฮาจา ปุรนามา หรือ “อาฮก” ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาเชื้อสายจีนซึ่งถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาสนาอิสลาม

หลังจากนั้น กระแสการให้คุณค่าการดำเนินธุรกิจตามหลักศาสนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชาวมุสลิมจุดพลุขึ้นมา ซึ่ง 212 ชะรีอะฮ์คอเปอเรทีฟ ที่เพิ่งจัดตั้งเพียง 3 ปี ก็มีสมาชิก 57,000 ราย

“อากุส ซิสสวานโต” รองผู้บริหารของ 212 ชะรีอะฮ์ ระบุว่า “เรามุ่งมั่นที่จะสร้างอิสรภาพทางเศรษฐกิจของชาวมุสลิม เพื่อกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม เพราะชาวมุสลิมเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่นี่ แต่อยู่ฐานล่างของพีระมิด เป็นเพียงลูกจ้างและผู้บริโภคเท่านั้น ขณะที่คนร่ำรวยอันดับต้น ๆ 20% ของประชากร ไม่ใช่ชาวมุสลิม แต่ควบคุมเศรษฐกิจของเราได้”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน 212 มาร์ตยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่ได้มีบทบาททางเศรษฐกิจมากนัก ทั้งยังต้องต่อสู้กับเชนร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่อย่าง “อัลฟามาร์ต” และ “อินโดมาเรต” ของนักธุรกิจอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ที่แต่ละเชนมีสาขาราว 16,000 แห่ง ซึ่งยังถือว่าการต่อสู้ยังคงอีกยาวไกล

นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อผลักดันธุรกิจอื่นอย่าง “เอ็กซ์แบงก์” ที่ช่วยเหลือสมาชิกในการทำธุรกิจการเงินตามหลักศาสนาอย่าง การปล่อยกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย และ “เคพีเอ็มไอ” ที่เป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการมุสลิม เพื่อฝึกอบรมการดำเนินธุรกิจและการเงินที่สอดคล้องกับหลักการศาสนาด้วย


ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี “โจโก วิโดโด” ก็ส่งเสริมธุรกิจมุสลิมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว แฟชั่น เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ สื่อ และภาคบริการทางการเงิน โดยการจัดอันดับขนาดเศรษฐกิจอิสลามทั่วโลกของดินเนอร์สแตนดาร์ด 2019 อินโดนีเซียได้รับการจัดลำดับเป็นอันดับที่ 5 จากอันดับที่ 10 ในปี 2018 นับว่าเป็นภาพสะท้อนกระแสเศรษฐกิจญิฮาดที่กำลังเติบโตมากขึ้นในยุคปัจจุบัน