ไวรัสอู่ฮั่นดัน “หนี้เสียจีน” พุ่ง เร่งเปิดทาง “ต่างชาติ” บริหารพอร์ต

Photo by STR / AFP) / China OUT

จีนกำลังเผชิญกับปัญหา “หนี้เสีย” จำนวนมหาศาลในระบบเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้ทางการจีนกำลังมองหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อช่วยจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งในข้อตกลงการค้า “เฟสแรก” กับสหรัฐระบุว่า จีนจะดำเนินการออกใบอนุญาตให้กับบริษัททางการเงินสหรัฐ สามารถเข้ามาซื้อหนี้เสีย

จากธนาคารพาณิชย์จีนได้โดยตรงแบบไม่ต้องผ่านตัวกลางที่เป็นบริษัทจีน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ “ไวรัสอู่ฮั่น” เข้ามาเป็นตัวเร่งให้หนี้เสียในจีนพุ่งสูงขึ้น

“ไพร้ซวอเตอร์สเฮาส์คูเปอร์ส” (พีดับเบิลยูซี) บริษัทตรวจสอบบัญชีชื่อดังระดับโลกประเมินว่า ในปี 2019 ที่ผ่านมาจีนมีหนี้เสียและทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณหนี้เสียจำนวนมหาศาลถือเป็นโอกาสของบริษัทการเงินจากต่างประเทศในการเข้ามาซื้อเพื่อทำกำไร

“บร๊อค ซิลเวอร์ส” ผู้จัดการ “อาดามาส” บริษัทบริหารและจัดการสินทรัพย์ในฮ่องกงระบุว่า “ตลาดซื้อขายเอ็นพีแอลในจีนมีขนาดใหญ่และกำลังเติบโต ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับบริษัทต่างชาติที่มีประสบการณ์”

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจากต่างประเทศยังมีส่วนร่วมน้อยมากในตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาสแห่งนี้ โดยพีดับเบิลยูซีเปิดเผยว่า ในปี 2019 นักลงทุนต่างชาติเข้าไปซื้อเอ็นพีแอลจากธนาคารพาณิชย์จีนประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่สูงระดับ 12-22%

ขณะที่ “ซาวิลส์” บริษัทตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกจากอังกฤษระบุว่า ในปี 2018 บริษัทต่างชาติซื้อเอ็นพีแอลและสินทรัพย์ไม่สร้างรายได้อื่น ๆ จากธนาคารพาณิชย์จีนประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากจากมูลค่าเอ็นพีแอลทั้งหมดในระบบ

อย่างไรก็ตาม จีนกำลังเปิดโอกาสให้กับบริษัทต่างชาติมากขึ้น โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลจีนพยายามดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจัดการกับปัญหาผิดนัดชำระหนี้ที่พุ่งขึ้นทำลายสถิติติดต่อกัน 2 ปี รวมถึงปัญหาหนี้เสียในระบบ โดยเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารหนี้เสียจะช่วยลดภาระของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินการบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวส่วนใหญ่

นอกจากนี้การเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามามากขึ้นยังช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันซึ่งส่งผลให้ตลาดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย ซึ่ง “จอห์น ซู” พาร์ตเนอร์ของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ

“ลิงก์เลเทอร์ส” คาดการณ์ว่า “รัฐบาลจีนอาจออกใบอนุญาตให้กับนักลงทุนจากยุโรปด้วยในอนาคต”

ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าส่งผลต่อจีนอย่างหนัก “เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้ง” ประเมินว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้หนี้เสียของจีนเพิ่มขึ้นถึง 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลให้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์จีนเพิ่มขึ้นถึง 6.3% ของสินเชื่อ

ทั้งนี้ ผลสำรวจของบลูมเบิร์กพบว่าบริษัทจีนมีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในไตรมาส 1/2020 ทั้งหมดสูงถึง 1.7 ล้านล้านหยวน และยังมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศที่ต้องชำระสำหรับปีนี้อีก 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการ “เบี้ยวหนี้” จำนวนมาก

ถึงแม้ว่าทางการจีนจะออกมาตรการรับมือผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า โดยเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า จีนออกกว่า 30 มาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจและอัดฉีดสภาพคล่อง เช่น การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบธนาคาร เป็นต้น

แต่หลายฝ่ายมองว่ามาตรการทั้งหมดยังไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จีนคาดการณ์ว่าจีดีพี

จีนไตรมาสแรกปีนี้จะลดต่ำกว่า 5% ถึงแม้ว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ก่อนเดือน มี.ค. ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าจีนคงทำสถิติการเบี้ยวหนี้อีกในปีนี้ และอาจเร่งให้จีนเปิดตลาดบริหารหนี้เสียให้กับต่างชาติเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายหนี้เสียของจีนยังคงมีอุปสรรค เพราะการทำธุรกิจในจีนจำเป็นต้องอาศัยชั้นเชิงและประสบการณ์อย่างมาก ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นมักมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับธนาคารและธุรกิจท้องถิ่นซึ่งส่งผลต่อการบริหารจัดการหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ