ถอดบทเรียน “เลือกตั้งออนไลน์” สหรัฐความโกลาหลก่อนใช้จริงปลายปีนี้

REUTERS/Eric Thayer/File Photo

หลายฝ่ายมองว่าระบบ “เลือกตั้งออนไลน์” จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการเลือกตั้ง และครอบคลุมผู้ที่มีสิทธิออกเสียงมากขึ้น เช่น ผู้พิการหรือผู้ที่อยู่นอกเขตการเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จำนวนมากชี้ว่าการเชื่อมต่อระบบการเลือกตั้งเข้ากับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมีความเสี่ยงจำนวนมากที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

ผลการหยั่งเสียงจากสมาชิกพรรคเดโมแครตที่รัฐไอโอวา เมื่อ 3 ก.พ. 2020 เพื่อหาตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นตัวอย่างล่าสุดของความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากการนำระบบออนไลน์มาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งได้มีการรวบรวมและรายงานคะแนนผ่านแอปพลิเคชั่น

บลูมเบิร์กรายงานว่า การรายงานคะแนนผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของพรรคเดโมแครตที่ไอโอวา เกิดปัญหาขัดข้องส่งผลให้ไม่สามารถสรุปผลคะแนนออกมาได้ ส่งผลให้การสรุปคะแนนล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังส่งผลให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยต่อผลลัพธ์ดังกล่าวอีกด้วย

เหตุการณ์ที่ไอโอวาจะวุ่นวายมากกว่านี้หากการลงคะแนนที่ไอโอวาไม่มีการสำรองข้อมูลการลงคะแนนไว้ ดังนั้น กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา จึงแนะนำว่าระบบเลือกตั้งออนไลน์ควรมีกระบวนการสำรองผลคะแนน เพื่อป้องกันกรณีที่ระบบออนไลน์มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากศูนย์ยุติธรรมเบรนเนนแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระบุว่า นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2019 เป็นต้นมา กว่า 1 ใน 4 ของรัฐในสหรัฐ มีการพัฒนาระบบเลือกตั้งออนไลน์ที่ไม่มีกระบวนการสำรองข้อมูลทางกระดาษ ส่งผลให้การลงคะแนนประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงในสหรัฐประมาณ 12% เผชิญความเสี่ยงหากระบบออนไลน์เกิดปัญหาขัดข้อง

นอกจากนี้ ระบบการเลือกตั้งออนไลน์ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซงผลลัพธ์การเลือกตั้งจากบุคคลภายนอก ซึ่งภายหลังการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2016 ของรัสเซียได้รับการเปิดเผย ส่งผลให้ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลต่อประชาชนและผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์มากยิ่งขึ้น

โดยเมื่อปี 2010 สหรัฐได้มีการทดลองระบบเลือกตั้งออนไลน์เป็นครั้งแรก เพื่อทดสอบถึงความปลอดภัย ซึ่งพบว่าระบบดังกล่าวถูกแฮกภายในเวลา 36 ชั่วโมงภายหลังการทดลอง โดยกลุ่มแฮกเกอร์ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ทำการปรับเปลี่ยนผลคะแนนเสียงทั้งหมด ขณะที่เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งจากวอชิงตันทราบเรื่องดังกล่าวในอีก 2 วันถัดมาและสั่งปิดระบบทั้งหมด

ขณะที่นักวิชาการยังกังวลกับความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งของประเทศโดย “เจ อเล็กซ์ ฮาลเดอร์แมน” ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า “หากมีการนำวิธีการลงคะแนนเสียงผ่านแอปพลิเคชั่นมาใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปผลลัพธ์ที่เกิดอาจเลวร้ายมาก”

ถึงแม้ว่าความผิดพลาดที่ไอโอวาจะสร้างความกังวลต่อความเสี่ยงจากการเลือกตั้งออนไลน์ และส่งผลให้พรรคเดโมแครตยกเลิกการนำระบบลงคะแนนออนไลน์มาใช้กับการหยั่งเสียงของพรรคที่รัฐเนวาดา ในวันที่ 22 ก.พ. 2020 อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 32 รัฐที่จะนำระบบออนไลน์มาใช้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐแบบ “บางส่วน” เช่น รัฐเวสต์เวอร์จิเนียจะอนุญาตให้ผู้พิการและเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่างแดนสามารถลงคะแนนเสียงผ่านแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “Voatz”

โดย “เมค วอร์เนอร์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐเวสต์เวอร์จิเนียยืนยันว่า “แอปพลิเคชั่นดังกล่าวผ่านการทดสอบความปลอดภัยโดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว” ซึ่งต่างจากแอปพลิเคชั่นของเดโมแครตซึ่งยังไม่ได้รับการทดสอบ

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงของระบบเลือกตั้งออนไลน์ โดย “ซูซาน กรีนฮาลล์” รองประธานการป้องกันการเลือกตั้งระดับชาติ (เอ็นอีดีซี) กล่าวว่า “หลายฝ่ายมองว่าเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องมีความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม”

ด้าน “ริชาร์ด เดมิโล” ศาตราจารย์ด้านวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ระบุว่า “ระบบการเลือกตั้งออนไลน์มีช่องโหว่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากเรื่องของการตั้งค่าโปรแกรมต่าง ๆ ที่ผิดพลาด รวมถึงการถูกแฮกเพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ ซึ่งการหยั่งเสียงที่ไอโอวาเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของอันตรายที่เกิดจากการเชื่อมระบบการเลือกตั้งเข้ากับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น”


เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคตซึ่งอาจเห็นการใช้ระบบเลือกตั้งออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาและทดสอบเพื่อปิดช่องโหว่ให้มากที่สุดเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นและสร้างผลกระทบและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการที่เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย