อังกฤษกับสหรัฐอเมริกา ไม่เหมือนเดิมหลัง “เบร็กซิต”

British Prime Minister Boris Johnson outlines his government's negotiating stance with the European Union after Brexit, during a speech at the Old Naval College in Greenwich, in London, Britain February 3, 2020. Frank Augstein/Pool via REUTERS

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ในโลกของความเป็นจริง หลังจากเที่ยงคืนของวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา “สหราชอาณาจักร” (ยูเค) เพียงพ้นจากการเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) แต่ในนาม กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านหรือ “ทรานซิชั่นพีเรียด” ยังคงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างคงสภาพอยู่เหมือนที่เคยเป็นมาต่อไปอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2020 นี้

หลังจากนั้น ยูเคหรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า อังกฤษ ก็จะย่างก้าวเข้าสู่ขอบเขตใหม่ที่ไม่เคยมีใครรู้ ไม่เคยมีประสบการณ์ผ่านพบมาก่อนหน้านี้

เพราะนั่นคือ อังกฤษ ที่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง ไม่ใช่ในฐานะ “แกนนำ” หนึ่งของ 27 ชาติยุโรป ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 18.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นอังกฤษที่มีขนาดเศรษฐกิจเพียง 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

การเจรจาเพื่อทำ “ความตกลงทางการค้า” กับชาติมหาอำนาจน้อยใหญ่ทั้งหลายในโลกต้องดำเนินการใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการเจรจากับอียูเองอีกด้วย

อะไรคือสิ่งที่อังกฤษจะนำไปใช้เพื่อเป็นพละกำลัง เเปรเป็นอำนาจในการต่อรองสำหรับการเจรจาดังกล่าว ?อะไรคือ “เสน่ห์” ที่อังกฤษต้องการนำเสนอต่อนักลงทุนทั้งโลก เพื่อให้ตบเท้าเข้ามาลงทุนที่นี่ เมื่อเทียบกับอีกหลาย ๆ ภาคส่วนของโลก

คำตอบจาก บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีที่นำพาประเทศผ่านพ้น 3 ปีของความแตกแยก, สับสน, ไม่แน่นอนจนมาถึงจุดนี้ได้สำเร็จนั้น อย่างดีที่สุดก็คลุมเครือ จนถูกหลายคนวิตกวิจารณ์อยู่ในเวลานี้ว่ากำลัง “ขายฝัน” ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่เท่านั้นเอง

“สันติ, เจริญรุ่งเรืองและมิตรภาพ กับทุกชาติทั่วโลก” ที่จอห์นสันประกาศจะดำเนินการ บอกอะไรได้ไม่มากมายเลยจริง ๆ

ในทางตรงกันข้าม ระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี ที่จำเป็นต้องทุ่มเทให้กับการเจรจาเพื่อความตกลงการค้าสำคัญกับอียู กลับจริงจัง แน่วแน่ ทั้ง ๆ ที่หลายฝ่ายยืนยันตรงกันว่า การทำความตกลงการค้าสำคัญ ๆ นั้นไม่มีทางสำเร็จได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เช่นนี้ แต่จอห์นสันก็ยังดึงดันยืนกรานช่วงเวลาดังกล่าว ถึงกับยินยอมเตรียมการผละออกมาโดยไม่มีความตกลง แต่ไม่ยอมให้ทอดเวลาเนิ่นช้าออกไปมากกว่านี้อีกแล้ว

ผู้สันทัดกรณีจำนวนไม่น้อย เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษกำลังทุ่มเดิมพันทั้งหมดลงไปกับการนี้ เพราะเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ “พิเศษ” ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งยิ่ง “พิเศษ” มากขึ้นไปอีกเมื่อเบร็กซิตเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว สื่อในอังกฤษจำนวนหนึ่งรายงานถึง “ความตกลงในหลักการ” ที่จะลงนามในความตกลง “การค้าเสรี” ระหว่างกัน ว่ากันว่า ความตกลงที่ว่านั้น “จะกลายเป็นความตกลงที่ใหญ่ที่สุดซึ่งสหรัฐอเมริกาเคยบรรลุมา” เลยทีเดียว

วิเคราะห์กันว่า บอริส จอห์นสัน หวังจะใช้ความตกลงนี้เป็นเครื่องมือในการกดดันให้อียูยินยอมตามความต้องการของอังกฤษ ในการทำความตกลงการค้าระหว่างกัน

ตามรายงานชี้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะลงนามกันในราวเดือน ก.ค. 2020 แต่สารัตถะในความตกลงนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะสิ้นสุดช่วงเปลี่ยนผ่านของเบร็กซิตไปแล้ว ซึ่งกำหนดกันว่าจะเป็นสิ้นเดือน ธ.ค. 2020 นั่นเอง

เมื่อ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลังอเมริกัน แสดง “ความคาดหวังในทางที่ดี” ต่อ “ความเป็นไปได้” ในการทำความตกลงทำนองนี้กับอังกฤษในปีนี้

รอยเตอร์สรายงานเอาไว้ด้วยว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงกับคาดว่าจะสามารถทำความตกลงดังกล่าวได้ก่อนหน้าที่จะถึงกำหนดการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาที่จะมาถึงในต้นเดือน พ.ย.นี้เช่นเดียวกัน

ปัญหาคือหลังเบร็กซิต สหรัฐอเมริกายังคงยึดถืออังกฤษเป็นชาติที่มีความสัมพันธ์พิเศษอยู่อีกหรือไม่ ?

บรรดาผู้ที่แสดงความกังขาเช่นนี้มีเหตุผลมากมาย ตั้งแต่การยกตัวอย่างความตกลงการค้าเพียงฉบับเดียวที่ประสบผลสำเร็จของทรัมป์ตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา อย่างเวอร์ชั่นใหม่ของนาฟต้าที่แสดงให้เห็นถึงการบังคับให้ชาติอื่นยอมตามความต้องการของตัวเอง “โดยเฉพาะหากหุ้นส่วนมีความอ่อนแอหรือมีความจำเป็น”

นอกจากนั้น การทำความตกลงการค้าสำคัญ ๆ ย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งยิ่งนับวันทรัมป์ยิ่งตกอยู่ในสภาพ “คู่สงคราม” กับพรรคเดโมแครตที่คุมสภาล่างอยู่มากขึ้นทุกที

ข้อเท็จจริงอีกประการที่น่าคิดก็คือ สหรัฐอเมริกา มีความสำคัญต่ออังกฤษก็จริง แต่ไม่ใช่ทางด้านการค้า ในแง่การค้านั้นข้อมูลของบีบีซีชี้ให้เห็นว่า ปริมาณที่อังกฤษส่งออกไปยังอียูนั้นมากกว่าส่งออกไปสหรัฐอเมริกาถึง 2.5 เท่า สัดส่วนของสินค้าที่อังกฤษนำเข้าจากอียูก็มากกว่าสหรัฐอเมริกาถึงเกือบ 5 เท่าตัว ตลาดอียูไม่เพียงใกล้กว่ายังใหญ่โตกว่า

และที่สำคัญก็คือ โดยมาตรฐานและเทคนิคหลาย ๆ อย่างทางด้านการค้าร่วมกันมาเป็นเวลานาน โอกาสที่จะทำความตกลงการค้ากับอียู ง่ายกว่าและกินเวลาน้อยกว่าทำกับสหรัฐอเมริกามาก

ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่อังกฤษเห็นว่าดีที่สุดสำหรับตนเอง อาจไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐอเมริกาเห็นพ้องว่าดีที่สุดเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ก็คือ การที่อังกฤษแสดงความ “สนใจ” ที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของความตกลงทีพีพี เวอร์ชั่นใหม่ที่ไม่มีสหรัฐอเมริกา หรือการแสดงเจตจำนงว่าต้องการเก็บ “ภาษีดิจิทัล” กับบริษัทยักษ์ในโลกออนไลน์ทั้งหลายที่ทำกำไรสูงมากแต่จ่ายภาษีต่ำมากมาโดยตลอด

รวมทั้งความขัดแย้งล่าสุดกรณีที่อังกฤษเปิดทางให้หัวเว่ยเข้าร่วมในการพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5 จี แบบจำกัดบทบาท เป็นต้น