ส่องกฎส่งออก “Novel foods” สู่อียู ดันไทยเปิดตลาด “แมลง” ยุโรป

(ซ้าย)นางสาวฟาเบียนา ควอดู_นายลอเรนต์ ลัวเดส_นายราฟาเอล เปเรซ เบอร์เบจัล_ศาสตราจารย์ เฮนรี แมคอาร์เดิล_ศาสตราจารย์เฮงก์ ฟัน โลเวอร์เรน(ขวา)

สหภาพยุโรป (อียู) โดยกระทรวงสุขภาพและความปลอดภัยด้านอาหารประจำคณะกรรมาธิการยุโรป (DG SANTE) ได้จัดการประชุมอบรม The Better Training for Safer Food (BTSF) ระดับภูมิภาคขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18 – 21 ก.พ. นี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบว่าด้วยการขออนุญาตวางจำหน่าย “อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่” (Novel foods) และ “อาหารท้องถิ่น” (Traditional foods) ที่นำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มสมาชิกอียู โดยมีกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ารวมเป็นจำนวนมาก

Novel foods คืออะไร?

นายราฟาเอล เปเรซ เบอร์เบจัล เจ้าหน้าที่นโยบายอาวุโสด้านความปลอดภัยอาหารประจำคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้พัฒนาชุดกฎหมายที่ครอบคลุมกระบวนการขออนุญาตสำหรับอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่และอาหารท้องถิ่น โดย “อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่” หมายถึงอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคภายในภูมิภาคยุโรปก่อนวันที่ 15 พ.ค. 1997 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ ที่สามารถยื่นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจะเป็นอาหารที่ค้นพบใหม่นอกภูมิภาคยุโรป หรืออาหารที่ผลิตขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ อย่างเช่น อาหารที่มีหรือประกอบด้วยสัตว์หรือชิ้นส่วนของสัตว์อย่างเช่น แมลง วัตถุดิบที่มาจากแร่ จุลินทรีย์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อ สัตว์และพืช และอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม

ส่วนอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคภายในภูมิภาคยุโรปก่อนวันที่ 15 พ.ค. 1997 แต่มีการบริโภคกันในภูมิภาคอื่นมาอย่างยาวนาน 25 ปีขึ้นไป จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “อาหารท้องถิ่น” ซึ่งจะต้องขออนุญาตในการวางจำหน่ายในยุโรปตามกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะได้รับการทบทวนทุก 5 ปี โดยฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเริ่มใช้ในปี 2018 ซึ่งมีการเพิ่มเติมรายละเอียดหลายประการ อย่างการเพิ่มเติมประเภทของอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ที่เข้าข่ายการพิจารณามากขึ้นจากเดิม 4 ประเภทเป็น 10 ประเภทในปัจจุบัน

การขอขึ้นทะเบียน Novel foods

สำหรับกระบวนการขออนุญาตในปัจจุบัน DG SANTE ได้พัฒนาเป็นการยื่นคำร้องเป็นการยื่นข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด โดยมีการออกแบบแบบฟอร์มการขออนุญาตบนเว็บไซต์ที่เข้าใจง่าย รองรับมากถึง 22 ภาษา และผู้ที่สนใจยื่นคำร้องยังสามารถตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตนเองได้ว่า อาหารที่ต้องการขออนุญาตเข้าข่ายอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่หรือไม่

โดยกระบวนการพิจารณาสำหรับอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่จะใช้เวลาราว 20 เดือน หากเอกสารมีความพร้อมและผ่านการรับรองจากหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) แล้ว ทาง DG SANTE จึงจะร่างข้อตกลงเพื่อรับรองและขึ้นทะเบียนอาหารดังกล่าวใน “ยูเนียนลิสต์” (Union List) เพื่ออนุญาตในการวางจำหน่ายอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ดังกล่าวในกลุ่มประเทศอียูต่อไป

ขณะที่อาหารท้องถิ่นก็มีกระบวนการพิจารณารับรองเช่นเดียวกันกับอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ แต่จะใช้เวลาสั้นกว่าเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น เนื่องจากอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบกระบวนการผลิตทางวิทยาศาสตร์ที่ละเอียดมากกว่าอาหารท้องถิ่น

ทั้งนี้ สิทธิในการวางจำหน่ายอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่จะเป็นของผู้ยื่นคำร้องแต่เพียงรายเดียวเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ยื่นคำร้องต้องส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของอาหารนั้นให้กับ DG SANTE โดยละเอียด ซึ่งเป็นไปตามหลักการปกป้องข้อมูล (Data protection) ต่างจากอาหารท้องถิ่นที่ผู้ยื่นคำร้องจะไม่ได้ครอบครองสิทธิในการจำหน่ายเพียงผู้เดียว แต่จะเป็นสิทธิทั่วไปสำหรับคนท้องถิ่นที่สามารถจัดส่งอาหารนั้น ๆ เข้ามาจำหน่ายในยุโรปได้

“แมลง” มาแรงใน “อียู”

นายเบอร์เบจัลเปิดเผยว่า แม้ในปัจจุบันตลาดอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ในอียูยังไม่เติบโตมากนัก แต่ที่ผ่านมา DG SANTE ก็ได้รับรองการผลิตและการจำหน่ายอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่และอาหารท้องถิ่นในตลาดยุโรปไปแล้วถึง 180 รายการ และในขณะนี้ยังมีคำร้องที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาอีกมากกว่า 200 รายการ

สำหรับอาหารที่อียูกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษในขณะนี้คือ “แมลง” อย่าง จิ้งหรีด ตั๊กแตน และหนอน ซึ่งไม่เคยอยู่ในวัฒนธรรมการกินของชาวยุโรปมากก่อน แต่ในปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากได้รับการวิจัยว่าเป็นแหล่งโปรตีนสูงไม่ต่างจากเนื้อสัตว์อื่น ๆ และยังสร้างมลภาวะน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นอีกด้วย จึงคาดว่าจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในตลาดอียู

ดันอาหาร “อาเซียน” เข้าตลาดยุโรป

ในการประชุมอบรม BTSF ในประเทศไทยครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมจำนวน 34 คนจาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยกลุ่มชาติอาเซียนมีตัวแทนจากกัมพูชา มาเลเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ร่วมด้วย สำหรับไทยเองมีผู้เข้าร่วม 15 คน โดยส่วนใหญ่ตัวแทนองค์กรที่มีความสนใจในการส่งออกสินค้าอาหารไปยังอียู

นอกจากนี้ การจัดการประชุมอบรมที่ไทยยังนับเป็นหนึ่งในการประชุมอบรมในโครงการอบรม BTSF ระดับภูมิภาค ซึ่งจะจัดขึ้น 9 ครั้งระหว่างปี 2020-2021 ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ได้แก่ แอฟริกา (เซเนกัลและเอธิโอเปีย) ละตินอเมริกา (อาร์เจนตินาและคอสตาริกา) เอเชีย (อินเดีย ทย และจีน) ตะวันออกกลาง (จอร์แดน) และยุโรป (มอลโดวา) โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมอบรมถึง 300 คนจาก 68 ประเทศทั่วโลก

โดยการอบรมครั้งนี้มีเป้าหมาย เพื่อกระจายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งออกอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ให้เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลาย และเพื่อให้ผู้ต้องการส่งออกอาหารท้องถิ่นมีความสามารถในการประเมินผลิตภัณฑ์ของตนเองในเบื้องต้น ก่อนที่จะยื่นคำร้องไปยัง DG SANTE เพื่อย่นระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้รวดเร็วยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่เป็นสิ่งที่อียูกำลังให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการรวมศูนย์การบริหารจัดการและการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งยังขยายโอกาสในการจำหน่ายสินค้าอาหารในตลาดอียู และเสริมสร้างความร่วมมือด้านความหลากหลายและความมั่นคงทางอาหารระหว่างประเทศอีกด้วย