“ไวรัส” ฟางเส้นสุดท้าย รายย่อยจีน “เจ็บหนัก” เสี่ยงล้ม-หนี้เสียพุ่ง

File Photo by GREG BAKER / AFP

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ในจีน กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของจีน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ เป็นผลมาจากมาตรการที่รัฐบาลจีนใช้ เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัส

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของจีน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการอย่างการปิดเมือง การขยายวันหยุดต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงการงดให้บริการพื้นที่สาธารณะและสถานบันเทิงต่าง ๆ

แม้ว่าหลาย ๆ บริษัทและโรงงานจะเริ่มกลับมาเปิดดำเนินงานอีกครั้งหลังช่วงหยุดยาว แต่ข้อมูลของ “ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปปิตัล คอร์ป” (CICC) กลุ่มธุรกิจการเงินยักษ์ใหญ่ของจีน ที่ทำการสำรวจบริษัท 163 แห่งทั่วประเทศ พบว่ามีบริษัทไม่ถึง 50% ที่สามารถกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สาเหตุมาจากการที่ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบในการควบคุมโรคที่เข้มงวดได้เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งทางการจีนยังบังคับใช้ในหลายพื้นที่ อีกทั้งหลายธุรกิจยังไม่สามารถใช้วิธีการทำงานจากที่บ้านได้ ส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากขาดรายได้ในการพยุงกิจการ

มหาวิทยาลัยชิงหวา ร่วมกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ทำการสำรวจบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของจีนราว 1,000 แห่งทั่วประเทศพบว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันมีบริษัทราว 1 ใน 3 ระบุว่า เงินทุนที่เหลืออยู่จะสามารถพยุงกิจการของพวกเขาต่อไปได้อีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ขณะที่ 85% ของบริษัทที่สำรวจประเมินว่า อาจจะต้องปิดตัวลงหากการระบาดกินระยะเวลานานเกิน 3 เดือน และหากยาวนานถึง 6 เดือน อาจมีบริษัทขนาดเล็กต้องปิดตัวเพิ่มขึ้นถึง 90%

“อู๋ ไห่” เจ้าของบริษัทเหมย เคทีวี ผู้ประกอบการบาร์คาราโอเกะระบุว่า โรคระบาดทำให้ร้านคาราโอเกะของบริษัทที่มีกว่า 50 แห่งทั่วประเทศต้องปิดให้บริการ จากมาตรการปิดสถานบันเทิงของทางการจีนที่ยังคงบังคับใช้อยู่ ซึ่งการปิดให้บริการดังกล่าวส่งผลให้พนักงานราว 1,500 คน เสี่ยงที่จะตกงาน

โดยอู๋ ไห่ระบุด้วยว่า บริษัทมีเงินทุนเหลืออยู่ราว 12 ล้านหยวน ซึ่งสามารถพยุงธุรกิจต่อไปได้อีกราว 2 เดือนเท่านั้น หากไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติได้อีกครั้ง

ขณะที่ “ซู กงซวน” ประธาน บริษัท โฮม ออริจินัล ชิกเก้น เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ระบุว่า ร้านอาหารของเขาต้องปิดให้บริการกว่า 400 สาขา นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทตกอยู่ในความเสี่ยง จากการขาดเงินสดสำหรับการจ่ายค่าเช่าและค่าจ้างพนักงาน

โดยหลายบริษัทใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต่างกันออกไป อย่างเช่น ภัตตาคาร “เหมยโจว ตงปอ” ในกรุงปักกิ่ง ได้นำวัตถุดิบที่เตรียมไว้สำหรับการประกอบอาหารจำหน่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนออกมาขายริมถนน

หลังจากที่ภัตตาคารไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ภัตตาคารบางแห่งก็เปลี่ยนมาทำอาหารถุงจำหน่ายหน้าร้านแทนเนื่องจากความรุนแรงของภาวะโรคระบาดที่ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้ภาคธุรกิจยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดได้ แต่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ซ้ำเติมความยากลำบากมาก่อนหน้านี้ ที่ธุรกิจจีนต้องประสบกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากหนี้สินที่สูงขึ้น อุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง และสงครามการค้ากับสหรัฐ

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจจีน เนื่องจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมดราว 30 ล้านแห่ง มีสัดส่วนถึง 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจีน (จีดีพี) ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เมื่อ ก.ย. 2019 โดยธุรกิจเหล่านี้เป็นแหล่งภาษีกว่า 50% ของรายได้รัฐบาล และยังมีแรงงานถึง 80% ของแรงงานทั้งประเทศ

“เจา เจียน” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแอตแลนติส ในมณฑลชานตงของจีนระบุว่า หากสถานการณ์โรคระบาดไม่สิ้นสุดโดยเร็ว อัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้น จากภาคธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินงานได้ และการสูญเสียงานและการขาดรายได้ของผู้คนจะทำให้ตัวเลขอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึดเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งหมด “โคโรน่าไวรัสอาจเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้าย” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนโดย “ธนาคารประชาชนจีน” ก็ได้อัดฉีดเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ตลาดเงิน เพื่อหนุนความสามารถการปล่อยกู้ของธนาคารต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกองทุนพิเศษ 300,000 ล้านหยวน ในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่บริษัทสำคัญ ๆ ด้วย

ขณะที่ภาคเอกชนรายใหญ่ก็ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือผู้ว่างงานอย่าง “เจดีดอทคอม” หนึ่งในอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนได้ประกาศว่า เปิดรับพนักงานเพิ่มกว่า 20,000 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับ “อาลีบาบา” ที่ประกาศแผนการช่วยเหลือคล้ายกันด้วย

นอกจากนี้ องค์กรบริหารท้องถิ่นทั้งปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และอีกหลายมณฑลก็มีมาตรการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนค่าเช่าที่พักอาศัย และขยายเวลาการจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมและการเสียภาษีด้วย

แต่ยังคงมีคำถามว่า มาตรการเหล่านี้จะสามารถช่วยพยุงธุรกิจจีนได้มากน้อยเพียงใด “เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้ง”ชี้ว่า แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะสิ้นสุดลง แต่ภาคธุรกิจรายย่อยจีนจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากโรคระบาดสร้างความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูง ส่งผลให้การขอสินเชื่อกู้ยืมเงินยากลำบากมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงที่บริษัทจีนจำนวนมากจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อสภาพคล่องและเป็นผลเสียต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนตลอดครึ่งแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย