มหา’ลัย “สหรัฐ-ออสซี่” เอฟเฟ็กต์ พิษโควิด-19 สูญรายได้ “นักศึกษาจีน”

(Photo by Patrick HAMILTON / AFP)

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักศึกษาจีนที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างแดนได้รับผลกระทบ จากมาตรการควบคุมการเดินทางของหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้นักศึกษาเหล่านี้อาจจำเป็นต้องหยุดการเรียนชั่วคราวในภาคการศึกษาที่กำลังจะมาถึง

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มีชาวจีนซึ่งศึกษาอยู่ต่างแดนมากกว่า 900,000 ชีวิต ในปี 2017 โดยมากกว่าครึ่งศึกษาอยู่ที่ “ออสเตรเลีย” และ “สหรัฐอเมริกา” ทั้งนี้ ในการป้องกันแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากจีนนั้น เมื่อ 1 ก.พ. 2020 รัฐบาลออสเตรเลียประกาศแบนผู้เคยเดินทางไปประเทศจีน ช่วง 14 วันก่อนการเดินทางมายังออสเตรเลีย

ขณะที่ทางการสหรัฐออกมาตรการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งรายงานข่าวระบุว่ามาตรการจำกัดการเดินทางของ 2 ประเทศส่งผลให้นักศึกษาจีนกว่า 56% ในออสเตรเลีย หรือ 106,680 คน ไม่สามารถเดินทางมายังออสเตรเลีย เพื่อศึกษาในภาคการศึกษาถัดไปได้ ขณะที่ทางสหรัฐมีนักศึกษาจากจีนราว 360,000 คน ซึ่งไม่ทราบจำนวนเท่าไหร่ที่กลับมาเรียนไม่ได้

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยของออสเตรเลียมีสัดส่วนรายได้จากนักศึกษาต่างชาติ 23.3% โดยรัฐบาลออสเตรเลียประเมินว่า นักศึกษาต่างชาติสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 37,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 ซึ่งจำนวนนักศึกษาจีนมีสัดส่วนประมาณ 38.3% ของนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด

“แอนดริว นอร์ตัน” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยว่า นักศึกษาจากจีนอาจจำเป็นต้องหยุดการศึกษาชั่วคราวอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา อาจส่งผลให้มหาวิทยาลัยของออสเตรเลียสูญรายได้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐระบุว่า นักศึกษาชาวจีนสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 14,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2018 ซึ่งคาดว่าปีนี้สหรัฐคงสูญเสียรายได้จากนักศึกษาจีนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

ถึงแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น “การเรียนออนไลน์” อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจากจีนมองว่า การเรียนระยะไกลไม่คุ้มกับค่าเทอมกว่า 62,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเลือกที่จะดรอปเรียนชั่วคราว

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ยังซ้ำเติมมุมมองของรัฐบาลและประชาชนต่อความกลัวนักศึกษาจากจีนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งกังวลต่อการเพิ่มอิทธิพลของจีนในสถานศึกษาของประเทศตน

โดยฝ่ายความมั่นคงของออสเตรเลียเริ่มแสดงความกังวลมากขึ้นต่อนักศึกษาจีนจำนวนมากในประเทศ และอิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่งที่เพิ่มขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยสำนักข่าวเอบีซีนิวส์รายงานอ้างอิงคำกล่าวของ “ทิม วิลสัน” สมาชิกคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลีย ระบุว่า “รัฐบาลต่างชาติมีความพยายามแทรกแซงสถาบันการศึกษาของออสเตรเลีย เพื่อควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่าง” กรณีดังกล่าว ไฟแนนเชียลไทมส์ระบุว่า รัฐบาลจีนพยายามแทรกแซงมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย เพื่อสอดส่องนักศึกษาชาวจีนที่มีความเห็นต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่ง ศูนย์กลางการศึกษาอิสระของออสเตรเลีย (ซีไอเอส) ยังแสดงความกังวลอีกว่า ความพยายามควบคุมนักศึกษาของรัฐบาลปักกิ่ง อาจบานปลายไปสู่ประเด็นความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ การมีนักศึกษาชาวจีนจำนวนมากยังเป็นการนำความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมืองจีนมาสู่ประเทศอีกด้วย ดังเช่น ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจีนและผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งได้ลุกลามไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีนักศึกษาจีนจำนวนมากอย่างออสเตรเลีย เช่นที่เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า นักศึกษาจากฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่เกิดการปะทะกันที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เมื่อ 24 ก.ค. 2019 โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่ง ส่งผลให้ทางมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาระงับเหตุการณ์ โดยความขัดแย้งรูปแบบดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วออสเตรเลีย ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองของนักศึกษาจีนทำให้เกิดข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับบทบาทของจีนในมหาวิทยาลัยของออสเตรเลีย รวมถึงแห่งอื่น ๆ ทั่วโลก

ขณะที่ทางสหรัฐอเมริกาเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากประเด็นดังกล่าวเช่นกัน ท่ามกลางการแย่งชิงความเป็นผู้นำโลกระหว่าง 2 ประเทศ ทางสหรัฐกล่าวหาว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ดำเนินการจารกรรมข้อมูลของสหรัฐด้วยการใช้สายลับซึ่งแฝงตัวมาในคราบนักศึกษา เช่น กรณีของนักศึกษาชาวจีน “จี้ เชาชุน” ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมไฟฟ้า ในสถาบันเทคโนโลนีอิลลินอยส์ ซึ่งถูก สำนักสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) สอบสวนกรณีการเป็นสายลับให้กับทางการจีน หน่วยงานยุติธรรมสหรัฐระบุว่า นายจี้ เชาชุน ทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของต่างประเทศ

ดังนั้น ทางการสหรัฐจึงสั่งจับตานักศึกษาจีนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กำลังศึกษาในสาขาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ขณะที่รัฐสภาออสเตรเลียเริ่มมีการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้เช่นกัน


อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจากจีนยังคงเป็นแหล่งรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ความกังวลที่เกิดขึ้นทั้งจากประเด็นความมั่นคงและการระบาดของโควิด-19 ไม่ควรนำไปสู่การปิดกั้นโอกาสทางการศึกษา