อินเดียฮือประท้วงกฎหมายสัญชาติ รับ “ทรัมป์” เยือน เจ็บอื้อดับแล้ว 17 ราย

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานสถานการณ์การปะทะกันอย่างรุนแรงในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติอินเดียฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ก่อนหน้านี้ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 17 ราย โดยการปะทะกันครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์ปะทะดังกล่าวปะทุขึ้นตั้งแต่วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการเดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นเวลา 2 วัน นับเป็นการเดินทางเยือนอินเดียครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่นของประธานาธิบดีทรัมป์และนายกรัฐมนตรีโมดี

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ก้อนหินขว้างปาทำลายอาคารสถานที่และรถยนต์จำนวนมาก ทั้งยังเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านกฎหมายดังกล่าวด้วย ขณะที่ เจ้าหน้าที่เองก็ได้พยายามใช้แก๊สน้ำตาและอาวุธปราบจลาจลเข้าควบคุมสถานการณ์ แต่การปะทะยังคงยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ (26 กุมภาพันธ์) ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บแล้วประมาณ 150 ราย โดยส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากของแข็งและกระสุนปืน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจนเสียชีวิตด้วย 1 ราย คาดว่าตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตยังจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ กฎหมายสัญชาติของอินเดียที่เป็นต้นเหตุของความไม่พอใจนี้ได้รับการเสนอโดยพรรคภารติยะ ชนตะของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี โดยบัญญัติให้สัญชาติแก่ผู้ลี้ภัยจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม

แม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะระบุว่า กฎหมายนี้เป็นการช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยทางศาสนาให้สามารถหลบหนีการกดขี่ในประเทศบ้านเกิดของตนเองได้ แต่กฎหมายนี้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวอินเดียจำนวนมาก เนื่องจากมองว่าเป็นการกีดกันและเลือกปฏิบัติทางศาสนา เพื่อพยายามจำกัดสิทธิและบทบาทของชาวมุสลิมกว่า 200 ล้านคนในอินเดีย รวมทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญอินเดียด้วย

กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านกฎหมายสัญชาติของอินเดียต้องการใช้ช่วงเวลานี้ เพื่อส่งสัญญาณความไม่พอใจต่อรัฐบาลอินเดียไปยังประธานาธิบดีสหรัฐ โดยการประท้วงเกิดขึ้นห่างอออกเพียง 11 ไมล์จากสถานที่จัดการต้อนรับประธานาธิบดีทรัมป์เท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ของสหรัฐได้เปิดเผยว่าสหรัฐมีความกังวลต่อกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน แต่ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากประธานาธิบดีทรัมป์แต่อย่างใด