“แอฟริกา” เหยื่อไวรัสใหญ่สุด แม้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในภูมิภาค

Photo by AMOS GUMULIRA / AFP

กลุ่มประเทศตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา หรือ “ซับซาฮาราแอฟริกา” เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้พึ่งพิงการส่งออกวัตถุดิบสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยักษ์ใหญ่ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ “โควิด-19” กำลังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในจีนอย่างหนัก ทำให้นักวิเคราะห์ต่างมองว่า แอฟริกาอาจกลายเป็น “เหยื่อของไวรัส” ที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดนอกภูมิภาคเอเชีย ทั้งที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่รายเดียว

บลูมเบิร์กรายงานว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศจีน ที่ไม่สามารถกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมาตรการที่ทางการจีนใช้รับมือกับโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นการปิดเมือง หรือการปิดกั้นเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ของจีนไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินงานได้ตามปกติ

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการโดยเฉพาะน้ำมันและแร่โลหะ ลดลงมหาศาล ซึ่งกลุ่มประเทศซับซาฮาราแอฟริกามีเศรษฐกิจพึ่งพิงการส่งออกสินค้าวัตถุดิบเหล่านี้เป็นสำคัญ

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแอฟริกามาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลของสถาบันการพัฒนาต่างประเทศ (โอดีไอ) ระบุว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาการชะลอตัวของจีนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดลงราว 5% ซึ่งทำให้ประเทศในซับซาฮาราแอฟริกาสูญเสียรายได้ในการส่งออกน้ำมันราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 0.3% ของจีดีพีกลุ่มประเทศซับซาฮาราแอฟริกา

นายเดิร์ก วิลเลม เต เวลเดอ นักวิจัยของโอดีไอ ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะทางการค้า ทั้งการนำเข้าและส่งออก ดังนั้นหากต้องการยกระดับคุณภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องทำงานหนักและยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องมีความหลากหลาย

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ของ “ไนจีเรีย” ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบอันดับต้น ๆ ของโลก จากการเติบโต 2.5% เหลือเพียง 2% ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากราคาน้ำมันที่ลดลง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบเนื่องจากพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก อย่าง แองโกลา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และ แซมเบีย

นับตั้งแต่ต้นปี 2020 ความต้องการวัตถุดิบ แร่โลหะของจีนที่ลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดฮวบลงราว 11% ขณะที่ราคาทองแดงลดลง 8% และราคาแร่เหล็กก็ลดลง 1.5%

นายอิปัมบู ชิอิมี ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งนามิเบีย กล่าวหลังธนาคารกลางตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า “เป็นมหันตภัยที่กำลังแพร่กระจาย เราไม่รู้ว่าเราอยู่จุดไหนในตอนนี้ และเมื่อใดจะถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด แต่มันได้เริ่มทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว”

ทั้งนี้ การส่งออกของกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ไปยังจีนคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นเพชรและทองแดง

นายเดนนี่ คาลยาลยา ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งแซมเบีย กล่าวว่า “ค่อนข้างชัดเจนหลังจากที่ได้เห็นผลกระทบจากราคาทองแดงที่ลดลง สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเราโดยตรง แม้ว่าปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินผลกระทบทั้งหมดได้” ขณะที่ นายคริส โลวาลด์ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางแห่งแอฟริกาใต้ระบุว่า ธนาคารกลางจะพิจารณาผลกระทบจากไวรัสต่อเศรษฐกิจโลกในการประชุมเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป

ไม่เพียงสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่สินค้าอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะกลุ่มที่มีตลาดผู้บริโภคในจีนอย่างเนื้อวัวนามิเบีย กาแฟรวันดา อะโวคาโดเคนยา และส้มซิตรัสแอฟริกาใต้ ก็ได้รับผลกระทบจากตลาดจีนที่ซบเซาด้วย


ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 แตกต่างจากสถานการณ์การระบาดของโรคซาร์สในจีนปี 2003 โดยสิ้นเชิง เนื่องจากขณะนั้นจีนยังไม่มีส่วนแบ่งในเศรษฐกิจโลกมากเท่าในปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจจีนคิดสัดส่วนมากถึง 18% ของจีดีพีโลก ส่งผลให้จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแอฟริกา แทนที่สหรัฐอเมริกาในระยะเวลาเพียง 10 ปี