เลือกตั้งสภา “อิหร่าน” “อนุรักษนิยม” ชนะขาด เปิดเกมกร้าวตะวันตก

Poll workers are seen during parliamentary elections at a polling station in Tehran, Iran February 21, 2020. Nazanin Tabatabaee/WANA (West Asia News Agency) via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY.

การเลือกตั้งรัฐสภาอิหร่าน เมื่อ 21 ก.พ. 2020 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับประเทศตะวันตกย่ำแย่ลง จากการถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ปี 2015 ของสหรัฐอเมริกา

โดย การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการชิงชัยระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งมีแนวทางที่แข็งกร้าวกับชาติตะวันตก และฝ่ายปฏิรูปที่มีแนวทางการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่กับยุโรป รวมถึงสหรัฐ

อัลจาซีรารายงานผลการนับคะแนนว่า กลุ่มผู้สมัครสายอนุรักษนิยมสามารถครอบครองเสียงในรัฐสภาได้ถึง 219 เสียง จากจำนวนที่นั่งในรัฐสภาทั้งหมด 290 เสียง ส่งผลให้กลุ่มแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับประเทศยุโรปครอบครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และส่งผลกระทบต่อความพยายามในการยุติความขัดแย้งกับตะวันตก

ทั้งนี้ รัฐสภาของอิหร่านมีอำนาจในการออกกฎหมาย, อนุมัติงบประมาณประจำปี รวมถึงรับรองการลงนามของรัฐบาลในความตกลงหรือสนธิสัญญากับต่างประเทศ

“โมฮัมเหม็ด ฮัสซัมมี” นักวิเคราะห์การเมืองอิหร่านกล่าวว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภาชุดใหม่เป็นสายอนุรักษนิยม มีแนวนโยบายต่างประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับประเทศตะวันตก

ดังนั้น การรื้อฟื้นความสัมพันธ์และข้อตกลงนิวเคลียร์กับยุโรปของประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จาวาด ซารีฟ อาจต้องเผชิญอุปสรรคอย่างมากในอนาคต

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ใช้สิทธิออกเสียงน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่การปฏิวัติเมื่อปี 1979 โดยกระทรวงมหาดไทยของอิหร่าน เปิดเผยว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 47% ซึ่งน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า เมื่อปี 2016 ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่า 60%

ถึงแม้ว่า “อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี” ผู้นำสูงสุดอิหร่านชี้ว่า ต่างชาติพยายามชี้นำประชาชนอิหร่านไม่ให้ออกมาเลือกตั้ง ด้วยการออกข่าวการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในอิหร่านเกินความเป็นจริง

รวมถึงการที่ สภาผู้พิทักษ์ของอิหร่าน (The Guardian Council) ได้สั่งแบนผู้สมัครเลือกตั้งสายปฏิรูปนับพันคน ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ชัยชนะครั้งนี้เป็นการแสดงความไม่พอใจของประชาชนต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลและรัฐสภาสายปฏิรูป

โดย “ฟูอาด อิซาดี้” อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเตหะรานของอิหร่าน ชี้ว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิที่น้อยเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่าประชาชนที่เคยสนับสนุน ปธน. ฮัสซัน รูฮานี ไม่ได้ออกมาเลือกตั้ง เนื่องจากผิดหวังกับรัฐบาล ขณะเดียวกันประชาชนเหล่านี้ก็ไม่อยากลงคะแนนเลือกฝ่ายอนุรักษนิยม

ทั้งนี้ นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 และดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของอิหร่าน โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศติดลบ 6% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มสูงถึง 33.5% กลายเป็นปัญหาปากท้องซึ่งสร้างความไม่พอใจรัฐบาลในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การประท้วงอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 300 คน

โดย “ซูเราะห์ คาซารามี” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาอเมริกันศึกษา มหาวิทยาลัยเตหะราน กล่าวว่า ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจรัฐบาลและรัฐสภาของฝ่ายปฏิรูป ซึ่งต้องการเพียงรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติตะวันตก จนลืมนึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

นอกจากนี้ โอกาสที่จะกลับมาเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์เป็นไปได้ยากแล้ว รัฐสภาสายอนุรักษนิยมยังถูกคาดการณ์ว่า จะให้การสนับสนุนกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (ไออาร์จีซี) และกองกำลังคุดส์ มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์ความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลางกลับมาบานปลายยิ่งขึ้น เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภาชุดใหม่เป็นผู้ให้การสนับสนุนไออาร์จีซี และกองกำลังคุดส์

ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าปฏิบัติการของกองกำลังดังกล่าวในอนาคตจะได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นในรัฐสภา

“ซาอิด โกลคาร์” อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทนเนสซีของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “รัฐสภาชุดใหม่จะเป็นฐานสนับสนุนที่สำคัญของผู้นำสูงสุดอิหร่าน และไออาร์จีซี”

ทั้งนี้ กองกำลังไออาร์จีซีเป็นผู้สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่งกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในภูมิภาค

ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงมองว่าการเลือกตั้งรัฐสภาครั้งนี้อาจเป็นการเปิดประตูนโยบายต่างประเทศของอิหร่านที่แข็งกร้าวมากขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดี มะห์มู้ด อบาดิเนจั๊ด เมื่อปี 2005-2013

ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจนั้น รัฐสภาชุดใหม่ยังอาจสนับสนุนแผนเศรษฐกิจของ “อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี” ผู้นำสูงสุดอิหร่าน

ในกรณีนี้บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงแผนเศรษฐกิจของผู้นำสูงสุด ซึ่งถูกนำเสนอภายหลังสหรัฐคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ซึ่งแผนดังกล่าวระบุว่า อิหร่านต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าน้อยลง

ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มการพึ่งพาเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากจีน และรัสเซียมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น เศรษฐกิจของอิหร่านอาจลดการพึ่งพาจากยุโรป และหันหน้าเข้าหาจีน และรัสเซียมากขึ้น ทั้งในแง่ของการค้าและการลงทุน