นักวิจัยชี้มลพิษทางอากาศกำลังกระจายทั่วโลก ทำให้คนตายเร็วขึ้นเฉลี่ย 3 ปี

REUTERS/Edgar Su

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รายงานวิจัยด้านมลพิษทางอากาศล่าสุดชี้ว่า มลพิษทางอากาศในปัจจุบันกำลังทำให้ประชากรทั่วโลกมีอายุเฉลี่ยลดลงเกือบ 3 ปี และทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 8.8 ล้านคนต่อปี

รายงานจากวารสาร Cardiovascular Research ระบุว่า การขจัดโมเลกุลและอนุภาคที่เป็นพิษภายในปอด ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้น้ำมัน แก๊ส และถ่านหิน จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพและยืดอายุขัยเฉลี่ยได้

Jos Lelieveld หัวหน้านักวิจัยจากสถาบันมักซ์ พลังค์ในเมืองไมนซ์ของเยอมนีระบุว่า “มลพิษทางอากาศสร้างความเสี่ยงต่อสาธารณสุขในวงกว้างมากกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยพลังงานหมุนเวียนสะอาด”

โดยรายงานระบุด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสาเหตุอื่น การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันมีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศสูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียถึง 19 เท่าในแต่ละปี และมากกว่าผู้เสียชีวิตจากการได้รับเชื้อเอชไอวีถึง 9 เท่า ทั้งยังมากกว่าผู้เสียชีวิตจากพิษสุราถึง 3 เท่า

ทั้งนี้ มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 50% ของผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ ขณะที่โรคระบบทางเดินหายใจและโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ อย่าง โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงก็เป็นสาเหตุรองลงมา แต่มีเพียง 6% เท่านั้นที่เสียชีวิตจากมะเร็งปอดที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ

Thomas Munzel นักวิจัยอาวุโสของแผนกเคมีและวิทยาโรคหัวใจ สถาบันมักซ์ พลังค์ ระบุว่า “ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า กำลังเกิดการแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศทั่วโลก ซึ่งทั้งมลพิษทางอากาศและการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้คนต่างพุ่งเป้าไปที่การสูบบุหรี่มากกว่ามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในหมู่ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ”

โดยภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศสูงที่สุดคือ เอเชีย โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่ที่เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอย่าง จีนมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง 4.1 ปี  อินเดียลดลง 3.9 ปี และปากีสถานลดลง 3.8 ปี โดยประเทศเหล่านี้มีหลายพื้นที่ที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศสูงมาก

อย่าง รัฐอุตตรประเทศ ของอินเดียที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน ที่งานวิจัยเปิดเผยว่า ประชากรในพื้นที่ดังกล่าวมีอายุขัยเฉลี่ยลดลงถึง 8.5 ปี ขณะที่ มณฑลหูเป่ย์ ของจีนที่มีประชากรราว 74 ล้านคนก็มีอายุขัยเฉลี่ยลดลงเกือบ 6 ปี ตามข้อมูล “ดัชนีคุณภาพชีวิตทางสภาพอากาศ” ซึ่งพัฒนาโดยนักวิจัยจากสถาบันนโยบายพลังงานของชิคาโก

ส่วนประชากรในทวีป แอฟริกา มีอายุขัยเฉลี่ยลดลงราว 3.1 ปี โดยพลเมืองในบางประเทศอย่าง ชาด เซียร์ราลีโอน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ไนจีเรีย และโกตดิวัวร์ มีอายุขัยเฉลี่ยลดลงระหว่าง 4.5-7.3 ปี เช่นเดียวกับหลายประเทศใน ยุโรปตะวันออก อย่าง บัลแกเรีย ฮังการีและโรมาเนีย ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศสูงเช่นเดียวกัน

ขณะที่อเมริกา ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ และประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศค่อนข้างน้อย

“เราจะเห็นว่าประชากรราวสองในสามเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลภาวะที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้งานเชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่ง 80% ของมลภาวะทั่วโลกมาจากประเทศที่มีรายได้สูง” Thomas Munzel กล่าวเพิ่มเติม