“สตาร์ตอัพ” แห่ปลดคนงาน ผลพวงเร่งลงทุนเกินตัว

(Photo by YOSHIKAZU TSUNO / AFP)

ความสำเร็จของธุรกิจ “สตาร์ตอัพ” กลายเป็นความฝันของหลายคนในปัจจุบัน ที่ต้องการจะเริ่มธุรกิจใหม่ที่มีโมเดลที่แตกต่าง ทันสมัย และใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จนหลายธุรกิจก้าวสู่ระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาไม่นาน แต่สถานการณ์ล่าสุดกลับเป็นที่ประหลาดใจ เนื่องจากบริษัทสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จหลายแห่งทยอยปลดพนักงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ในช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ตอัพจำนวน 12 บริษัท ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนโดย “ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป คอร์ป” (SoftBank Group Corp.) กลุ่มบริษัทข้ามชาติของญี่ปุ่น ที่เน้นการลงทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพทั่วโลก ได้ประกาศปรับลดพนักงานเป็นระยะ ๆ รวมกันมากกว่า 73,000 ตำแหน่ง แม้ว่าหลายบริษัทจะมีมูลค่าธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“โอโย” (OYO) สตาร์ตอัพบริการจองที่พักราคาย่อมเยาในอินเดียที่มีแผนขยายธุรกิจทั่วโลก เป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในรอบการระดมทุนเดือน ต.ค. 2019 แต่เมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาก็ประกาศปลดพนักงานถึง 3,300 ตำแหน่ง

ขณะที่ “แฟร์ดอทคอม” (Fair.com) สตาร์ตอัพแพลตฟอร์มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ที่มีมูลค่าเกือบ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการระดมทุนรอบเดือน ก.ย. 2019 ก็ปรับลดตำแหน่งงานลงราว 40% ภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ หลังการระดมทุน

เช่นเดียวกันกับ “แวก” (Wag) สตาร์ตอัพบริการจูงสุนัขเดินเล่นที่มีมูลค่าราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ปรับลดพนักงานลงอย่างน้อย 90 ตำแหน่ง หลังจากที่ซอฟต์แบงก์ถอนการลงทุนทั้งหมดเกือบ 50% ในแวก เนื่องจากความขัดแย้งด้านแผนการลงทุนของบริษัทเมื่อเดือน ธ.ค. 2019 ที่ผ่านมา ซีอีโอของแวกส่งอีเมลถึงพนักงานระบุว่า การลดตำแหน่งงานเป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวดและยากลำบากอย่างยิ่ง แต่เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับอนาคตของเรา

การปลดพนักงานเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานหลากหลาย ทั้งด้านวิศวกรรม การตลาด และทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงด้านการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการที่ถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหันด้วย

ก่อนหน้านี้ กองทุนวิชั่นฟันด์ (Vision Fund) ของซอฟต์แบงก์ได้ตั้งเป้าอัดเม็ดเงินลงทุน 93,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก ภายในระยะเวลา 2 ปี กองทุนดังกล่าวได้ลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ การทำเกษตรแนวดิ่ง ไปจนถึงหุ่นยนต์ทำพิซซ่า ซึ่งหลายธุรกิจมีมูลค่าตั้งต้นหลายร้อยล้านถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

“แคทลีน สมิท” ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนเรเนซองส์แคปิตัล (Renaissance Capital) ระบุว่า ซอฟต์แบงก์แทรกแซงการระดมทุนด้วยการอัดฉีดเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ตลาดเอกชน ซึ่งบ่อยครั้งทำให้มูลค่าของบริษัทสูงเกินจริง “ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีเงินทุนส่วนเกินที่ต้องการลงทุนในสตาร์ตอัพ และกองทุนวิชั่นฟันด์ของซอฟต์แบงก์ก็ทำให้สถานการณ์หนักขึ้น”

หลายบริษัทถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเงินลงทุนสูงเกินกว่าความจำเป็น ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากอย่างรวดเร็วแบบ “ฟองสบู่” อย่างโอโยที่มีพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา อดีตหัวหน้าฝ่ายบุคคลของบริษัทเปิดเผยว่า มีการจ้างพนักงานใหม่ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี กระทั่งเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทจึงหยุดรับสมัครงานใหม่และเริ่มปลดพนักงาน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพนักงานอยู่ราว 25,000 คน

สาเหตุหนึ่งมาจากแรงกดดันจากนักลงทุนที่ต้องการให้บริษัทเร่งขยายกิจการ เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรแบบก้าวกระโดด

“ริเทช อการ์วาล” ซีอีโอของโอโยระบุว่า “ตลาดมีข้อเสนอที่ชัดเจนสำหรับบริษัทที่มีความเติบโตสูง แนวทางในการแสวงหากำไรมีค่าอย่างยิ่งและเรารับทราบทั้งหมด”

สำหรับกรณีของ 2 บริษัทสตาร์ตอัพรายใหญ่ที่ซอฟต์แบงก์เป็นผู้ลงทุนหลักอย่าง “อูเบอร์” (Uber) บริษัทสตาร์ตอัพไรด์แชริ่งที่ได้รับแรงกดดันจากนักลงทุนหลังจากขายหุ้นไอพีโอเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ให้ปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร จนต้องมีการปลดพนักงานมากกว่า 1,100 คน

ขณะที่ “วีเวิร์ก” สตาร์ตอัพโคเวิร์กกิ้งสเปซขนาดใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการไอพีโอ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการบริหารงานของซีอีโอ ขณะที่ธุรกิจยังขาดทุนต่อเนื่องก็ต้องปรับลดจำนวนพนักงานอย่างน้อย 1,000 ตำแหน่ง

แถลงการณ์ของโฆษกกองทุนวิชั่นฟันด์ระบุว่า “จากความเชื่อมั่นนักลงทุนที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจสตาร์ตอัพทั้งหลายต้องเผชิญกับแรงกดดันในการพยายามทำกำไรอย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งบริษัทลงทุนของเราจำนวนหนึ่งต้องตัดสินใจที่ยากลำบากในการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อยกระดับสถานะให้ดีขึ้นและประสบความสำเร็จในระยะยาว ซึ่งเราเห็นว่าบริษัทอื่นก็จะปรับตัวเช่นกัน”

“มาร์เซโล่ เกลาเร่” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของซอฟต์แบงก์ ที่รับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของวีเวิร์กระบุว่า “การเติบโตได้ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นความเข้าใจผิด ๆ เราชื่นชอบการเติบโตที่รวดเร็ว ชื่นชอบบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูง รวมทั้งต้องเป็นบริษัทที่มีเส้นทางที่ชัดเจนในการแสวงหากำไรและเงินสด”

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของกองทุนวิชั่นฟันด์ในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุดขาดทุนถึง 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้หลายบริษัทต้องหันไปให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ควบคุมต้นทุน ทำให้มีจำนวนพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง