อินเดียจำกัดส่งออก “ยา” ซ้ำเติมสหรัฐ

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก “ยารักษาโรค” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่พึ่งพาการนำเข้าส่วนผสมยาจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะ “จีน” และ “อินเดีย” ก็กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนยารักษาโรคบางชนิดแล้ว

บิสซิเนส อินไซเดอร์รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ออกแถลงการณ์ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง เนื่องจากการหยุดการผลิตของโรงงานผลิตส่วนผสมสำคัญยาในจีน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19

แม้ว่าเอฟดีเอจะไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นยาชนิดใด แต่ “สตีฟ ฟีไรรา” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “โอเชี่ยนออดิต” บริษัทที่ปรึกษาด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศชี้ว่า สหรัฐอาจกำลังขาดแคลนยา “เพนิซิลลิน” โดยจากข้อมูลของโออีซีพบว่า จีนเป็นผู้ส่งออกสารตั้งต้นและส่วนประกอบสำหรับการผลิตยาเพนิซิลลิน เป็นสัดส่วนถึง 44% ของการส่งออกทั่วโลก

นอกจากนี้ เอฟดีเอยังเปิดเผยอีกว่า ยังมียารักษาโรคอีก 20 ชนิดที่สหรัฐพึ่งพาการนำเข้าสารตั้งต้นจากจีน ซึ่งเสี่ยงจะขาดตลาดเช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันสหรัฐพึ่งพาการนำเข้าสารตั้งต้นและส่วนประกอบสำหรับผลิตยารักษาโรคจากต่างประเทศสูงมาก โดยรายงานของเอฟดีเอต่อรัฐสภาสหรัฐ เมื่อเดือน ต.ค. 2019 ระบุว่า แม้สหรัฐจะเป็นผู้ลงทุนด้านงานวิจัยชีวการแพทย์รายใหญ่ของโลก และเป็นผู้คิดค้นและพัฒนายารักษาโรคหลายชนิดในอันดับต้น ๆ ของโลก แต่สหรัฐไม่ได้เป็นผู้นำของการผลิตอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิต “สารออกฤทธิ์ทางยา” ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยารักษาโรค

รายงานระบุด้วยว่า สหรัฐพึ่งพาการนำเข้าสารตั้งต้นของยาดังกล่าวจากจีน และประเทศอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลในเดือน ส.ค. 2019 จำนวนโรงงานที่ผลิตสารตั้งต้นการผลิตยาให้กับสหรัฐ เป็นโรงงานจากต่างประเทศถึง 72% ซึ่งเป็นโรงงานในประเทศจีนในสัดส่วน 13%

“ชัค กราสรีย์” วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันเปิดเผยว่า สหรัฐต้องพึ่งพาสารตั้งต้นในการผลิตยารักษาโรคจากจีน และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของปริมาณความต้องการในประเทศ

ทั้งนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้โรงงานในจีนไม่สามารถผลิตสารตั้งต้นได้ นอกจากจะส่งผลต่อสหรัฐแล้ว ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะ “อินเดีย” ที่เป็นผู้นำเข้าสารออกฤทธิ์ทางยาจากจีน ถึง 70% ด้วยเช่นกัน

รอยเตอร์สรายงานว่า ทางการอินเดียได้ประกาศห้ามส่งออกสารตั้งต้นและส่วนประกอบสำหรับผลิตยา รวมถึงตัวยารักษาโรค 26 ชนิด ซึ่งรวมถึงยาพาราเซตามอล เนื่องจากภาวะขาดแคลนสารตั้งต้นจากจีน โดยการสั่งห้ามส่งออกครั้งนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกสินค้าทางเภสัชกรรมของอินเดีย

การสั่งห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาของอินเดีย ยิ่งซ้ำเติมภาวะขาดแคลนในสหรัฐ โดยข้อมูลจากเอฟดีเอชี้ว่า ในปี 2018 สหรัฐนำเข้ายารักษาโรคจากอินเดีย ในสัดส่วนถึง 24% ของการนำเข้ายารักษาโรคทั้งหมด และนำเข้าสารออกฤทธิ์ทางยาจากอินเดียอีก 31%

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ยิ่งตอกย้ำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องทบทวนมาตรการเพื่อรับมือ หากประเทศผู้ผลิตยาและสารตั้งต้นรายอื่น ๆ ทั่วโลกต้องจำกัดการส่งออก ซึ่งส่งผลอย่างหนักต่อสหรัฐและประเทศที่พึ่งพาการนำเข้ารายอื่น ๆ ด้วย