“เฟด” หั่นดอกเบี้ยฉุกเฉิน ทำตลาดทั้งช็อก-ตื่นตระหนก

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

วันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สร้างความประหลาดใจปนช็อกและตื่นตระหนกให้กับตลาด เมื่อมีมติเป็นเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมากถึง 0.5% ไปอยู่ที่ระดับ 1-1.25% ที่สำคัญเป็นการลงมติเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนอกวาระประชุมปกติหรือฉุกเฉิน ทั้งที่การประชุมตามวาระปกติกำหนดไว้วันที่ 17-18 มีนาคมนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 นับจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐเมื่อ ค.ศ. 2008 ที่เฟดมีการลดดอกเบี้ยอย่างฉุกเฉินเช่นนี้

เจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ชี้แจงว่า เหตุผลที่ต้องปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นเพราะสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระจายกว้างออกไป สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต ดังนั้น เฟดจึงเลือกที่จะลงมือบางอย่างเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ “เรารู้เป็นอย่างดีว่าการหั่นดอกเบี้ยจะไม่ช่วยลดอัตราการติดเชื้อ ไม่แก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงัน ไม่สามารถโน้มน้าวให้คนกลับมาบิน เข้าร่วมประชุมสัมมนา หรือช่วยให้หน่วยงานรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ กลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติ แต่อย่างน้อย การลดดอกเบี้ยจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวม ช่วยให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น”

ประธานเฟด ยอมรับว่า ไม่สามารถคาดการณ์ว่าไวรัสจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากน้อยเพียงใด เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น อีกทั้งไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ของไวรัสจะกินเวลานานเท่าใด แม้ว่าหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคท่องเที่ยว จะรายงานว่าเกิดการขาดทุนบ้างแล้วก็ตาม กระนั้นก็ตามประธานเฟดยืนยันว่า ณ ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง

การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินลงมากถึง 0.5% แทนที่จะสร้างความพอใจให้กับตลาด กลับส่งผลตรงกันข้าม โดยดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐ วันที่ 3 มีนาคม ดิ่งลงอย่างแรง โดยดัชนีดาวโจนส์ลดลง 786 จุด หรือ 2.94% เช่นเดียวกับดัชนีหลักอีก 2 ตัว คือ S&P 500 และ NASDAQ ต่างปรับลงเกือบ 3% ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน ดาวโจนส์ปรับขึ้นเกือบ 1,300 จุด เพราะคาดหวังว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในไม่ช้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัส ช่วยชดเชยการดิ่งลงของสัปดาห์ก่อนหน้าได้บ้าง แต่เมื่อเฟดปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินลงมากถึง 0.5% กลับกลายเป็นการสร้างความตื่นตระหนก

อาจจะมีเพียงคนเดียวที่รู้สึกพอใจ คือ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กดดันให้เฟดลดดอกเบี้ยมาก ๆ มาโดยตลอด ซึ่งครั้งนี้ทรัมป์ได้ทวีตข้อความเช่นเดิมว่า เฟดควรลดดอกเบี้ยอีกในคราวหน้า

จิม เครเมอร์ อดีตผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์และผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้น ระบุว่า การหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟดกลายเป็นการส่งสัญญาณตื่นตกใจให้กับตลาด เป็นการตัดสินใจที่ผิดและไม่สามารถหยุดยั้งการดิ่งลงของตลาดหุ้นได้เพราะการลดดอกเบี้ยจะไม่ได้ผล เนื่องจากไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสดีขึ้น ไม่ได้ช่วยให้การยกเลิกกิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ อันเนื่องจากไวรัสกลับมาทำงานตามปกติ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ก็คือ เรามีวิกฤตด้านสาธารณสุขที่สามารถสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างให้กับเศรษฐกิจ การลดดอกเบี้ยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและรักษาไข้เศรษฐกิจ

“การลดดอกเบี้ยมากถึง 0.5% เป็นสัญญาณของความตื่นตระหนกว่าการระบาดของไวรัสจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างมาก มันแสดงให้เห็นว่าประธานเฟดหวาดหวั่นว่าอัตราการว่างงานในสหรัฐอาจพุ่งขึ้น”

การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟดเกิดขึ้นหลังจากพบการติดเชื้อไวรัสภายในสหรัฐและมีผู้เสียชีวิต ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เฉพาะสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ดาวโจนส์ลดลง 3,200 กว่าจุด

ความตื่นตระหนกของตลาดหุ้นยังเกิดขึ้นจากการที่เฟดไม่ได้เอ่ยถึงมาตรการอื่น ๆ นอกเหนือจากการลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ประกอบกับผลการประชุมกลุ่มจี 7 ซึ่งเพิ่งจบลงไปไม่มีความชัดเจนหรือรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่จะรองรับผลกระทบจากไวรัส กล่าวเพียงกว้าง ๆ ว่าจะใช้เครื่องมือด้านนโยบายเพื่อลดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

การแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมได้ และกระจายเป็นวงกว้างไปในหลายประเทศมากขึ้น ก่อให้เกิดความกังวลว่าระดับผลกระทบของมันต่อเศรษฐกิจจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดองค์การอนามัยโลกออกมา ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลกสูงขึ้น ขยับไปอยู่ที่ 3.4% จากเดิมที่ผู้เชี่ยวชาญเคยประเมินไว้ว่า อยู่ที่ 2.3% เท่านั้น


หน้า 10